เชื้อไวรัสฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แต่ล่าสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ได้รับการรายงานว่ามีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงกว่า 100 ราย ในทวีปยุโรป ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และมีผื่นหรือตุ่มนูนขึ้นทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะแขนและขา
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง คืออะไร
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง คือ เชื้อไวรัสในกลุ่มออร์โทพ็อกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) ของวงศ์ พ็อกซ์วิริดี้ (Poxviridae) ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ 2501 ในลิงที่ถูกส่งจากสิงคโปร์ไปยังศูนย์วิจัยในเดนมาร์ก และในปี พ.ศ. 2513 มีการบันทึกว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จากนั้นจึงพบได้มากในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน เช่น ลิง หรือสัตว์ฟันแทะบางชนิด และสามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนได้เช่นกัน
ปัจจุบัน เมื่อช่วงพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงมากกว่า 1,000 รายทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีการรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษลิง แต่พบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย เป็นชาวต่างชาติที่แวะพักเครื่องที่ประเทศไทย และมีประวัติการเดินทางบนเครื่องบินลำเดียวกับผู้ติดเชื้อยืนยันที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อความปลอดภัย ทางหน่วยงานประเทศไทยจึงเร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 12 คน
เชื้อไวรัสฝีดาษลิงติดต่อกันได้อย่างไร
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน ผ่านการกัด การข่วน หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่ปรุงสุก รวมถึงยังสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- ละอองน้ำลาย น้ำมูก จากการไอและจามของผู้ติดเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ
- การสัมผัสของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิผ่านทางบาดแผล การถ่ายเลือด หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- การสัมผัสกับสิ่งของ เช่น ลูกบิดประตู เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสฝีดาษลิง 1-2 สัปดาห์ อาจเกิดอาการ ดังต่อไปนี้
- มีไข้สูงกว่า 38.5 องศา
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ไอแห้ง เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวม
- หายใจลำบาก
ในช่วง 1-3 วันแรก อาจมีผื่นขึ้น โดยอาจเริ่มที่ใบหน้า จากนั้นจะลุกลามไปยังแขน ขา และเท้า โดยผื่นมีการเปลี่ยนแปลง มีตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง หลังจากนั้นจึงตกสะเก็ด โดยผื่นจะอยู่ในระยะเดียวกันน เชื้อไวรัสฝีดาษลิงอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคปอดบวม การติดเชื้อที่กระจกตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
วิธีรักษาการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะทางสำหรับการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง คุณหมอจึงแนะนำให้พักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก ๆ และอาจให้รับประทานยารักษาตามอาการ รวมถึงยาต้านไวรัส เช่น ทีโคเวอริเมท (Tecovirimat) ไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) และบรินซิโดโฟเวียร์ (Brincidofovir)
นอกจากนี้ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษให้ครบทั้ง 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ติดเชื้ออาจสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ภายใน 14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ เพื่อลดอาการรุนแรงของโรคฝีดาษลิง
วิธีการป้องกันเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
วิธีการป้องกันเชื้อไวรัสฝีดาษลิง อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
- สวมหน้ากากอนามัย แว่นตา และถุงมือ
- ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือเข้าใกล้สัตว์มากเกินไป โดยเฉพาะสัตว์ป่า
- ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
- ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง
[embed-health-tool-heart-rate]