เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากต่อมไขมันอักเสบเรื้อรัง จนส่งผลให้ผิวหนังตกสะเก็ด เป็นขุย มีผื่นคัน หรือเป็นรอยแดง พบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า รวมถึงผิวหนังส่วนที่มีไขมันเยอะทั่วร่างกาย โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแคและยาต้านเชื้อรา แต่หากรักษาเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
เซ็บเดิร์ม คือ อะไร
เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์มาลาสซีเซีย พาไคเดอมาติส (Malassezia pachydermatis) หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีผิวหนังหลุดลอกเป็นแผ่น ผิวบวมแดง และเกิดรังแคหรือสะเก็ดที่หายได้ยาก พบมากในบริเวณหนังศีรษะ แต่ก็อาจส่งผลต่อผิวหนังบริเวณข้างจมูก คิ้ว หน้าผาก เปลือกตา หู หน้าอก หรือส่วนอื่น ๆ ที่มีต่อมไขมันมากได้เช่นกัน หากพบในทารกจะเรียกว่า ภาวะต่อมไขมันอักเสบในทารก ที่ทำให้เกิดแผ่นไขสีเหลืองบนหนังศีรษะ หรือไขที่ศีรษะ (Cradle Cap) ของทารก โรคเซ็บเดิร์มส่วนใหญ่มักเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาและดูแลที่เหมาะสม
ปัจจัยเสี่ยงของโรค เซ็บเดิร์ม คือ อะไร
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้
- เป็นเด็กทารกและเด็กเล็ก
- มีสภาพผิวมัน
- มีโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
- มีภาวะสุขภาพที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) หรือชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)
- เป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
- เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคในกลุ่มอาการยึกยือ (Tardive Dyskinesia) ซึ่งทำให้ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ได้ โรคลมบ้าหมู ภาวะอัมพาตใบหน้า ภาวะไขสันหลังบาดเจ็บ
- มีภาวะผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม
- ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) บิวสไปโรน (Buspirone) ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)
อาการของโรคเซ็บเดิร์ม
อาการของโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้
- มีสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ เมื่อสะเก็ดหลุดลอกจะติดอยู่ตามเส้นผม คอ และไหล่ ลักษณะเหมือนรังแค
- ผิวหนังเป็นผื่นแดง คัน บริเวณร่องจมูก หัวคิ้ว และใบหู
- มีรอยแดงเป็นขุยที่เปลือกตา
- มีแผ่นผิวหนังรูปวงแหวนหรือกลีบดอกไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ บริเวณแนวไรผมและหน้าอก
- ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้ ใต้ราวนม และซอกขาหนีบเป็นรอยแดง
- ในทารก จะมีแผ่นไขมันสีเหลืองหรือสีขาวบนหนังศีรษะ ไม่ทำให้รู้สึกคัน แต่หากแกะเกาอาจทำให้เลือดออกหรืออักเสบได้
วิธีรักษาโรคเซ็บเดิร์ม
วิธีรักษาโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้
การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะ
- การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะในเด็กเล็ก
อาการผิวหนังอักเสบในเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน อาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรืออาจรักษาด้วยการสระผมให้เด็กด้วยแชมพูเด็กอ่อน ๆ ตามปกติ หลังสระผมควรนวดหรือแปรงหนังศีรษะของเด็กด้วยแปรงขนนุ่มวันละหลายๆ ครั้ง ระวังอย่าให้เกิดแผลเพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ หากเป็นโรคเซ็บเดิร์มที่ผิวหนังส่วนอื่น ให้รักษาด้วยการทาโลชันสเตียรอยด์สูตรอ่อนโยนต่อผิวเด็ก หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น เด็กยังเกาศีรษะและมีอาการไม่สบายตัว ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
- การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่
- อาการระดับเบา อาจใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซีลีเนียม ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) โคลทาร์ (Coal tar) สัปดาห์ละประมาณ 2 ครั้ง สำหรับการรักษาระยะยาว คุณหมออาจสั่งให้แชมพูป้องกันเชื้อรา เช่น ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งสามารถได้ทุกวัน หรือ 2-3 วัน/สัปดาห์ ควรใช้ติดต่อกันหลายสัปดาห์จนกว่ารังแคจะหาย เมื่ออาการดีขึ้นให้ใช้ 1 ครั้ง/1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
- อาการระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง คุณหมออาจสั่งแชมพูที่มีส่วนผสมของเบตาเมทาโซนวาเลเรต (Betamethasone valerate) โคลเบตาโซล (Clobetasol) ฟลูออซิโนโลน (Fluocinolone) แชมพูบางยี่ห้ออาจสามารถใช้ได้ทุกวัน บางยี่ห้ออาจใช้ 2 ครั้ง/สัปดาห์ จึงควรศึกษาเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก่อนใช้ทุกครั้ง
การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณใบหน้าและลำตัว
- การใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ เช่น ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คีโตโคนาโซล เซอร์ตาโคนาโซล (Sertaconazole) ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบครีม โฟม เจล ใช้ทาบริเวณผิวหนังอักเสบ 2 ครั้ง/วัน โดยอาจต้องใช้ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เบตาเมทาโซนวาเลเรต เดโซไนด์ (Desonide) ฟลูออซิโนโลน ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบครีม โลชัน โฟม เจล ขี้ผึ้ง น้ำมัน สารละลาย ใช้ทาบริเวณที่ผิวหนังอักเสบ 1-2 ครั้ง/วัน
- การใช้ยาในกลุ่มยาต้านแคลซินูริน (Calcineurin inhibitors) เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) โดยทาผิวหนังที่อักเสบ 2 ครั้ง/วัน
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโรคเซ็บเดิร์มอย่างเหมาะสม
- อาการของโรคเซ็บเดิร์มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ
- สงสัยว่าผิวหนังติดเชื้อ
- รักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้วไม่ได้ผลหรืออาการไม่ดีขึ้น
[embed-health-tool-heart-rate]