backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

โรคดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคดาวน์ซินโดรม เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีหน้าตาลักษณะเฉพาะ ส่งผลทำให้เกิดความบกพร่องทางพฤติกรรม สติปัญญา พัฒนาการตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล โดยอาจสังเกตได้จากอาการสมาธิสั้น ปัญหาด้านการเรียนรู้ และปัญหาด้านการสื่อสาร บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางด้านโรคหัวใจ โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคพร่องฮอร์โมน โรคดาวน์ซินโดรมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถฝึกฝนเพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารและการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และต้องรักษาภาวะโดรคที่เกิดร่วม

คำจำกัดความ

โรคดาวน์ซินโดรม คืออะไร

โรคดาวน์ซินโดรม คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการที่โครโมโซมในร่างกายคู่ที่ 21 เกินมา จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของร่างกาย อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น การได้ยิน และการทำงานของหัวใจ โรคดาวน์ซินโดรมไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่อาจรักษาตามอาการ และให้ลูกเรียนรู้ในการอยู่กับโรคเพื่อให้ใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น

อาการ

อาการของโรคดาวน์ซินโดรม

อาการของโรคดาวน์ซินโดรม อาจสังเกตได้จาก

  • หน้าตาที่มีลักษณะเฉพาะ
  • ศีรษะ หู มือ และเท้า มีขนาดเล็ก
  • คอสั้น ผิวหนังด้านหลังคอย่น
  • จมูกแบนราบ
  • รอยพับบนฝ่ามือและนิ้วที่มีความย่นของผิวหนัง
  • จุดสีขาวเล็ก ๆ ในม่านตา
  • รูปทรงดวงตาคล้ายถั่วอัลมอนด์และมีลักษณะเอียงขึ้น
  • ปากขนาดเล็ก จนลิ้นอาจยื่นออกจากปาก ลิ้นจุกปาก
  • มีปัญหาด้านการมองเห็นและการได้ยิน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อหลวม
  • การเจริญเติบโตล่าช้า
  • ความจำสั้น
  • สมาธิสั้น ปัญญาอ่อน
  • พูดไม่ชัด ไม่เป็นคำ เนื่องจากมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า
  • การทำงานของหัวใจบกพร่อง
  • ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้

สาเหตุ

สาเหตุของโรคดาวน์ซินโดรม

สาเหตุของโรคดาวน์ซินโดรมเกิดจากการที่โครโมโซมคู่ที่ 21 (Trisomy 21) เกินมา โดยปกติแล้วร่างกายจะมีโครโมโซม 23 คู่ หรือ 46 แท่ง ที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่อย่างละครึ่ง แต่หากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง รวมเป็น 47 แท่ง อาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม โดยดาวน์ซินโดรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ไทรโซมี 21 (Trisomy 21) คือ ภาวะที่โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 ชุด เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด
  • Translocation Down Syndrome คือ ภาวะที่โครโมโซมคู่ที่ 21 แบ่งตัวออก ทำให้เกินมา 1 แท่ง จากนั้นจะเริ่มเคลื่อนย้ายไปติดกับโครโมโซมคู่อื่น ๆ
  • Mosaic Down Syndrome เป็นภาวะที่เกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติหลังจากที่มีการแบ่งตัวไปบางส่วนแล้ว ทำให้ร่างกายอาจมีโครโมโซม 2 ชุด คือ ชุดที่ปกติ และชุดที่มีโครโมโซมเกิน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคดาวน์ซินโดรม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคดาวน์ซินโดรม มีดังนี้

  • การมีลูกในช่วงอายุมาก โดยเฉพาะการตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากระบบสืบพันธุ์อาจเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาการแบ่งตัวของโครโมโซม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 35 ปี ก็อาจเสี่ยงทำให้ลูกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมได้เช่นกัน
  • การมีลูกเป็นโรคดาวน์ซินโดรมมาก่อน หากลูกคนแรกเป็นดาวน์ซินโดรม ลูกคนอื่นก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ซินโดรมได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคดาวน์ซินโดรม

การวินิจฉัยโรคดาวน์ซินโดรม อาจเริ่มตั้งแต่การตรวจครรภ์ขณะที่ตั้งครรภ์ ดังนี้

  • การตรวจในไตรมาศแรก (Combined Test) คือ เจาะเลือดแม่ อัลตราซาวด์
  • ตรวจเลือด คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อวัดระดับของพลาสมา (PAPP-A) และฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG)
  • อัลตราซาวด์ ทำให้เห็นโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ เพื่อเช็กความผิดปกติบริเวณหลังคอของทารกว่ามีของของเหลวสะสมบริเวณนี้หรือไม่
  • การตรวจชิ้นเนื้อรก (CVS) อาจตรวจหลังจากตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ โดยคุณหมออาจนำสายสวนเล็ก ๆ หรือสอดเข็มขนาดเล็กเข้าทางปากมดลูก เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากรกนำมาตรวจหาข้อบกพร่องทางพันธุกรรม และความเสี่ยงในการเกิดโรคดาวน์ซินโดรม
  • การเจาน้ำคร่ำ (Amniocentesis) คุณหมออาจใช้เข็มสอดขนาดเล็กเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำรอบ ๆ ทารกในครรภ์มาตรวจสอบ ซึ่งมักตรวจในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 หลังจากตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์
  • การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ โดยการเก็บตัวอย่างเลือดของทารกหลังจากคลอดไปตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม
  • การเจาะเลือดแม่ (NIPT) เป็นวิธีที่กำลังนิยมเนื่องจากสามารถตรวจได้ ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ระยะแรก และค่อนข้างปลอดภัยไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อน
  • การรักษาโรคดาวน์ซินโดรม

    ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคดาวน์ซินโดรมให้หายขาด แต่มีวิธีบรรเทาอาการและการบำบัดพฤติกรรมและสติปัญญา เพื่อกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ ดังนี้

    • การทำงานของหัวใจบกพร่อง คุณหมออาจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและรักษาตามอาการที่พบ
    • ปัญหาการมองเห็น คุณหมออาจให้สวมแว่นสายตา หรืออาจผ่าตัดหากเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับต้อกระจก
    • ปัญหาการได้ยิน อาจแก้ไขได้โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยฟังและเข้ารับการตรวจหูเป็นประจำ
    • ปัญหาของลำไส้ อาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของลำไส้
    • การบำบัดเสริมทักษะและกระตุ้นพัฒนาการ พาลูกเข้ารับการบำบัดตามโปรแกรมของคุณหมอ เช่น ฝึกการเข้าสังคม ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร เพื่อให้ลูกเจริญเติบโตอย่างสมวัย และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
    • ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง อาจมีอาการตั้งแต่แรกเกิด และถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไข อาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคดาวน์ซินโดรม

    คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคดาวน์ซินโดรม ด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์เป็นประจำ นอกจากนี้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมควรศึกษาวิธีการดูแลลูก ดังต่อไปนี้

    • ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ทำงานบ้านเล็กน้อย โดยควรให้ลูกทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อสร้างความคุ้นชิน
    • เพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูก เช่น อ่านหนังสือ เลือกเสื้อผ้าสวมใส่เอง ร้องเพลง เต้น ทำงานศิลปะ พาไปเดินเล่นสวนสาธารณะ เพื่อเสริมทักษะการเข้าสังคม
    • หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรง หรือบั่นทอนกำลังใจของลูก ให้ลองเปลี่ยนเป็นคำว่า ลองดูอีกครั้ง ไม่เป็นไร เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกผิดและอยากลองทำใหม่จนกว่าจะถูก
    • ให้อิสระกับลูกในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำอยู่ข้าง ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา