สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันผิวหนังและอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด และเมื่อเป็นโรค สะเก็ดเงิน อาการ ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ผิวหนังหนาเป็นปื้น แห้ง และลอกเป็นขุยสีขาวหรือเงินอยู่ตลอด และมักเกิดร่วมกับอาการคัน
[embed-health-tool-heart-rate]
สะเก็ดเงิน คืออะไร
สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด โดยเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักเติบโตเร็วกว่าปกติประมาณ 10 เท่า ทำให้ผิวหนังบริเวณศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า แผ่นหลังส่วนล่าง และอวัยวะเพศ กลายเป็นสะเก็ดแข็งสีเงิน สีขาว หรือสีเหลือง
ปกติแล้ว สะเก็ดเงินมักเกิดกับผู้มีอายุระหว่าง 20-30 ปี และระหว่าง 50-60 ปี โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคนี้จะไม่เกิดกับทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
สำหรับสาเหตุของสะเก็ดเงินสันนิษฐานว่าเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนผิดปกติ
ทั้งนี้ จะไม่พบอาการหรือสัญญาณใด ๆ ของโรค จนกระทั่งร่างกายถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อ
- สภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงที่หนาวหรือแห้ง
- การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง เช่น การถูกของมีคมบาด การเสียดสี การกระแทก
- การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาต้านมาลาเรีย ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
สะเก็ดเงิน อาการ เป็นอย่างไร
โรคสะเก็ดเงินชนิดที่พบได้มากที่สุด หรือราว ๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของโรคสะเก็ดเงินทั้งหมด คือ Plaque Psoriasis โดยอาการของโรคสะเก็ดเงินชนิดนี้ ได้แก่ ผิวหนังหนาเป็นปื้น มีสีอ่อนกว่าผิวหนังรอบ ๆ และอาจเกิดการแห้ง ลอก และตกสะเก็ดได้
นอกจากนี้ ผิวหนังที่เป็นปื้นหนามักก่อให้เกิดอาการคัน และเมื่อเกาแล้ว จะยิ่งทำให้ส่วนที่เป็นปื้นยิ่งหนาขึ้นกว่าเดิม
สำหรับอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ มีดังต่อไปนี้
- จุดสีชมพูเล็ก ๆ ที่มีสะเก็ด บริเวณลำตัว ขา หรือแขน
- ผิวหนังเป็นปื้นแดง
- อาจพบผื่นในบริเวณข้อพับ ขาหนีบ ร่องก้น
- ตุ่มหนอง สีแดง
- อาจมีอาการอื่นๆที่เกิดจากโรคแทรกซ้อน เช่น โรคสะเก็ดเงิน
- ผิวหนังเป็นปื้นสีแดงกับขาว
- ผิวหนังกลายเป็นสีแดงทั่วร่างกาย
- มีตุ่มหนองขึ้นบริเวณผื่นแดง
- รู้สึกเจ็บปวดและบวมบริเวณข้อต่อ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือและข้อนิ้วเท้า
ทั้งนี้ หากสะเก็ดเงินเกิดขึ้นที่เล็บ เล็บของผู้ป่วยจะมีส่วนปลายที่ดูหนากว่าปกติ และถูกยกจนหลุดจากผิวหนังที่หนาตัวข้างใต้
เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรดูแลตัวเองอย่างไร
สะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด เมื่อเป็นแล้ว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค
- รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพื่อลดอาการคัน แห้ง หรืออักเสบของผิวหนัง ด้วยการทาครีม โลชั่น หรือเปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศขณะอยู่ในบ้าน
- ใช้สบู่ฤทธิ์อ่อน เพื่อบรรเทาอาการคันและผิวที่แห้ง
- ลดความเครียด ด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพราะความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการของโรคสะเก็ดเงินแย่ลงได้
- งดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทั้งบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบได้
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่คัน เพราะอาจยิ่งทำให้ผื่นลาม และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเป็นแผลพุพอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ เช่น สบู่ฤทธิ์แรง ผงซักฟอกที่มีสารเคมีรุนแรง โลชั่นที่ผสมแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเสี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ทอจากขนแกะหรือขนสัตว์ที่หยาบและหนา เพราะอาจทำให้ผิวหนังที่อักเสบระคายเคืองได้
- ใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอ คุณหมอมักจ่ายยาที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการคัน ผิวแห้ง ตกสะเก็ด รวมถึงลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวหนัง เช่น แคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin Inhibitor) แอนทราลิน (Anthralin) น้ำมันดิน ให้ผู้ป่วยใช้ในรูปแบบของครีมหรือยาทา