สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้ผิวหนังในบริเวณศีรษะนั้นมีลักษณะเป็นผื่นหนาเป็นปื้นแดง และตกสะเก็ด ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
คำจำกัดความ
สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ คืออะไร
สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ (Scalp psoriasis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ทำให้ผิวหนังบริเวณศีรษะนั้นมีลักษณะเป็นผื่นหนา เป็นปื้นแดง และตกสะเก็ด สามารถพบได้ตั้งแต่บริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก ท้ายทอย ไปจนถึงหลังใบหู
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ นั้นไม่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง และอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และหลายคนอาจจะสับสนระหว่างสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะกับรังแค แต่รังแคนั้นจะเป็นเพียงแค่ สะเก็ดสีขาวที่เกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเท่านั้น แต่สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนั้นจะมีลักษณะมันวาวกว่า และมีอาการผื่นแดงร่วมด้วย
สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ พบบ่อยแค่ไหน
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อย และผู้ที่ป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงินกว่า 50% นั้นมักจะมีอาการสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะร่วมด้วยเช่นกัน โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนี้จะพบได้มากในผู้ใหญ่ แต่เด็กก็สามารถเกิดสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะได้เช่นกัน
อาการ
อาการของ โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
หากโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนั้นมีอาการไม่รุนแรง อาการก็อาจจะมีแค่ ผิวตกสะเก็ดเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง มักมีอาการดังต่อไปนี้
- ผื่นแดงเป็นปื้นหนา
- ผิวตกสะเก็ด คล้ายรังแค
- รู้สึกคัน
- หนังศีรษะแห้ง
- แสบหัว
- ผมร่วงบางจุด
อาการของสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนั้นอาจเกิดได้ตั้งแต่ในบริเวณหนังศีรษะ หลังหู คอ ตลอดมาจนถึงบริเวณหน้าผาก
อาการผมร่วงนั้นไม่ได้เกิดจากสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ แต่มักจะเกิดจากการที่ไปเกาในบริเวณนั้นจนทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหายและผมหลุดร่วง นอกจากนี้ หากเกาแรงมากเกินไปจนเกิดแผล อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้อีกด้วย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้นเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะโปรดปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองแตกต่างกัน เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามภาวะสุขภาพของแต่ละคน
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
เช่นเดียวกับโรคสะเก็ดเงินอื่น ๆ สาเหตุหลักที่แท้จริงของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนั้นยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ส่งสัญญาณประสาทไปยังเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นมากเกินแอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นอาการตกสะเก็ดอย่างที่เห็น
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ ได้แก่
- มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็น โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
- ผู้ป่วยโรคอ้วน
- ผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ต่ออาหารต่าง ๆ เช่น แพ้กลูเตน (gluten)
- ผู้ที่มีการบาดเจ็บที่หนังศีรษะ
- ผู้ที่มีความเครียดสูง
- ผู้ที่กำลังมีอาการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ หรือไข้หวัด
- ผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสำหรับโรคหัวใจ หรือยาสำหรับโรคข้ออักเสบ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะนั้นเหมือนกับการวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน แพทย์ผิวหนังจะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อดูอาการที่เกิดขึ้น ว่ามีลักษณะเหมือนกับอาการของโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะหรือไม่
แพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณศีรษะ เพื่อดูให้แน่ชัดว่า อาการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือการติดเชื้อรา
นอกจากนี้ คุณหมออาจขอตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคอื่นที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตกสะเก็ดบนหนังศีรษะ
การรักษาสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะให้หายขาด แต่การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการ และช่วยลดความรุนแรงของโรคแทน
แพทย์อาจสั่งให้ลองใช้ยาเฉพาะที่ ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของยาครีม โลชั่น น้ำมัน ขี้ผึ้ง หรือยาสระผม ที่ใส่ตัวยาสำคัญต่าง ๆ เช่น
- น้ำมันถ่านหิน
- กรดซาลิไซลิก (salicylic acid)
- โคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (clobetasol propionate)
- เรตินอยด์ (retinoids)
- แอนทราลิน (anthralin)
ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป โดยทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หากอาการไม่ตอบสนองต่อยาเฉพาะที่ แพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
- การฉายแสง (Light Therapy)
- การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid)
- การรับประทานยาอื่น ๆ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาเมโธเทรกเซท (methotrexate)
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับ โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะด้วยตนเอง มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเกา โดยเฉพาะเวลาสระผม หรือเมื่อเกิดอาการคัน เพราะการเกาอาจทำให้เกิดแผล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- รักษาความชุ่มชื้นของผิว การรักษาความชุ่มชื้นของหนังศีรษะ ไม่ปล่อยให้ผิวแห้ง จะสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการสะเก็ดเงินได้
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นสะเก็ดเงิน หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นสะเก็ดเงินต่าง ๆ เช่น ความเครียด พักผ่อนน้อย หรืออาการที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำสำหรับวิธีการรักษาที่ดีที่สุด