ไข้ออกตุ่ม หรือไข้ออกผื่น เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีไข้พร้อมกับมีตุ่มหรือผดผื่นขึ้นตามร่างกาย อาจเกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสโดยตรงหรือการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสมาก่อนแล้ว ไข้ออกตุ่มอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงมาก และมักรักษาตามอาการจนกว่าเชื้อไวรัสจะหมด อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]
ไข้ออกตุ่ม คืออะไร
ไข้ออกตุ่ม (Viral Exanthem) เป็นอาการมีไข้หรือตัวร้อนพร้อมกับมีตุ่มหรือผดผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามร่างกาย อาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ผดผื่นและตุ่มบนผิวหนังอาจเกิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัส หรือเกิดจากเซลล์ผิวหนังถูกไวรัสทำลาย เมื่อเชื้อไวรัสลุกลามเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลให้เกิดแผลพุพอง อักเสบ หรือมีอาการคัน และมีอาการ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย ร่วมด้วย การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาในการติดเชื้อเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ สามารถหายได้เอง และมักไม่ส่งผลเสียในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้ออกตุ่มบางชนิดสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย หากติดเชื้อไวรัสจึงควรดูแลสุขภาพให้ดี กักตัว ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และรักษาจนกว่าอาการไข้ออกตุ่มจะหายไป
ไข้ออกตุ่ม เกิดจากอะไร
ตุ่มบนผิวหนังอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ไวรัสทำให้เซลล์ผิวหนังเสียหาย
- ร่างกายตอบสนองต่อสารพิษที่ไวรัสสร้างขึ้น
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการไข้ออกตุ่มได้ อาจมีดังต่อไปนี้
- โรคอีสุกอีใส เกิดจากไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ติดต่อผ่านทางลมหายใจ การสัมผัสกับละอองน้ำลาย การใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับตุ่มน้ำของผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อ โรคอีสุกอีใสอาจทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มนูนแดงขนาดเล็ก หรือเกิดตุ่มน้ำใสทั่วร่างกาย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อย และมีอาการคันในบริเวณที่ติดเชื้อ
- โรคโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า SARS-CoV2 ติดต่อผ่านการรับละอองน้ำลายและน้ำมูกของผู้ป่วย หรือการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ อาจทำให้เกิดตุ่มแดงเล็ก ๆ คล้ายตาข่าย ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้สูง เป็นต้น
- โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease) เกิดจากไวรัสพาร์โวไวรัส บี 19 (Parvovirus B19) ติดต่อผ่านการสัมผัสกับละอองน้ำลายและน้ำมูก มักพบในเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดผื่นแดงที่ผิวหน้า มีอาการคัน มีไข้ต่ำ ๆ และอ่อนเพลียได้ง่าย
- โรคมือเท้าปาก เกิดจากคอกซากีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A16) ติดต่อผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งและอุจจาระของผู้ป่วย มักพบในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ เป็นโรคที่อาการไม่ร้ายแรงแต่ติดต่อกันได้ง่าย ทำให้เกิดตุ่มขนาดเล็กบริเวณมือและเท้า เกิดแผลในปาก ทั้งยังอาจทำให้มีไข้และผดผื่นที่ก้นด้วย
- โรคหัด (Measles) เกิดจากมอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ ทั้งยังติดต่อผ่านละอองเสมหะ น้ำมูกและน้ำลายของผู้ติดเชื้อได้ด้วย โรคหัดอาจทำให้มีผดผื่นหรือตุ่มแดง ร่วมกับมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล น้ำตาไหล และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- โรคส่าไข้หรือหัดกุหลาบ (Roseola) เกิดจากไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 ติดต่อผ่านการหายใจรับละอองเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง มักพบในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ขวบ โรคนี้ทำให้เกิดไข้สูง 3-5 วัน และอาจมีอาการไอ คัดจมูก เหนื่อยง่าย จากนั้นจะเกิดผื่นบนใบหน้าและลามไปที่ลำตัวประมาณ 1-3 วัน
- โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย ทำให้เกิดผื่นแดง ปวดเมื่อยตามตัว และบางครั้งอาจไม่แสดงอาการ หากหญิงตั้งครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันอาจทำให้ทารกมีภาวะพิการหลังคลอดได้
นอกจากนี้ ยังมีเชื้อไวรัสที่อาจทำให้เกิดตุ่มบนผิวหนัง ดังนี้
- ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) มีด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี ซี ดี และอี ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะชนิดบี ซึ่งเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุด ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ส่งผลให้ตับบวมโต มีผื่นขึ้น และร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย
- ไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อเอชไอวี มักติดต่อผ่านการมีทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสชนิดนี้ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงและติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะหากอยู่ในระยะเอดส์ โรคติดเชื้อเอชไอวีอาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการช้า และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางผิวหนัง เช่น ผดผื่นขึ้น มีอาการคัน
- ไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus) ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) ที่ติดต่อผ่านการจูบ มักแพร่กระจายผ่านน้ำลาย การไอ และการจาม ทำให้เกิดผื่นที่ใบหน้าและลำตัว มีไข้ เจ็บคอ และอ่อนเพลีย
อาการของไข้ออกตุ่ม
ไข้ออกตุ่มทำให้เกิดตุ่มหรือผื่นทั่วร่างกาย มักเริ่มจากบริเวณใบหน้า และลามไปตามลำตัว ในบางรายอาจมีอาการคันหรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุ อย่างไรก็ตาม อาการอื่น ๆ ที่มักพบเมื่อมีไข้ออกตุ่ม อาจมีดังนี้
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- มีน้ำมูก
- เจ็บคอ
- ปวดท้อง
- ปวดเมื่อยตามตัว
- อ่อนเพลีย
- ไม่อยากอาหาร
วิธีรักษาเมื่อเป็นไข้ออกตุ่ม
วิธีรักษาเมื่อเป็นไข้ออกตุ่ม อาจทำได้ดังนี้
การรักษาด้วยยา
จุดมุ่งหมายในการรักษาอาการไข้ออกตุ่ม คือ การบรรเทาตุ่ม ผดผื่น และอาการคันที่ผิวหนัง คุณหมออาจสั่งยาให้ทายาลดอาการคันแบบโลชั่นหรือครีม เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โลชั่นคาลาไมน์ (Calamine Lotion) ร่วมกับการรับประทานยาบรรเทาปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) ที่ช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดเนื้อตัว
การดูแลตัวเอง
การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ ร่วมกับการใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด อาจช่วยให้อาการไข้ออกตุ่มหายเร็วขึ้น
- ประคบผิวหนังด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด เป็นเวลา 15-30 นาที สามารถทำวันละหลาย ๆ ครั้งได้
- หมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย และควรเช็ดอย่างเบามือเพื่อไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง
- ไม่แกะเกาผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเกิดแผลเป็นได้
อาการไข้ออกตุ่มอาจบรรเทาลงภายในไม่กี่วันหรือ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่ติดเชื้อ และระยะเวลาในการติดเชื้อ
วิธีป้องกันไข้ออกตุ่ม
ไข้ออกตุ่มอาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับดวงตา จมูก ปาก ที่อาจเป็นช่องทางให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ เคาน์เตอร์
- รับวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดต่าง ๆ
- รักษาระยะห่างจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับของใช้ของผู้ป่วย
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
วิธีป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ติดเชื้อ
- สวมหน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก
- ปิดปากและจมูกเมื่อไอจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ในระหว่างติดเชื้อ ควรกักตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากรักษาและดูแลตัวเองด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
- มีไข้สูง
- มีหนองไหลออกจากตุ่ม
- มีอาการปวดหรือบวมบริเวณผิวหนัง