ปัสสาวะบ่อย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างและเมื่อใดที่น่าเป็นห่วง
ปัสสาวะบ่อย แค่ดื่มน้ำเข้าไป ไม่ถึง 30 นาทีก็ต้องเข้าห้องน้ำอีกแล้ว ถ้าคุณปัสสาวะบ่อยจนรู้สึกกังวล หรือรบกวนคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการปัสสาวะบ่อยอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางอย่าง ไปจนถึงการมีปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษา
ปัสสาวะบ่อยอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
1.ดื่มน้ำมากเกินไป
นอกจากการดื่มน้ำเปล่าแล้ว ร่างกายยังได้รับน้ำจากการกินอาหาร 20-30% และจากเครื่องดื่มประเภทอื่น ซึ่งการได้รับน้ำมากเกินไป (poly dipsia) เช่น ดื่มน้ำ 4-5 ลิตรต่อวัน สามารถทำให้คุณปัสสาวะบ่อยขึ้น จากการที่ร่างกายต้องขับน้ำออกทางไตในปริมาณที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้ปริมาณเกลือในร่างกายลดลง จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยให้สังเกตสีปัสสาวะเป็นสีเหลืองอ่อน หรือสีใส และไม่ควรดื่มน้ำมากจนเกินไปจนต้องเข้าห้องน้ำทั้งวัน
2.ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดการกระตุ้นให้มีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้นาน ซึ่งปัสสาวะอาจมีสีขุ่น มีเลือดปน หรือมีกลิ่นผิดปกติ นอกจากนี้คุณอาจมีอาการไข้ คลื่นไส้ และปวดท้องด้านล่างหรือด้านข้าง โดยถ้าไปพบคุณหมออาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ
ทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งไตจะทำหน้าที่กรองออก แต่ไตอาจไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ส่งผลให้มีน้ำตาลปนในปัสสาวะ ซึ่งการปัสสาวะบ่อยเป็นสัญญาณที่พบบ่อยของโรคเบาหวาน คุณควรปรึกษาคุณหมอถ้าเริ่มปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
4.โรคเบาจืด
โรคเบาจืด เป็นภาวะที่แตกต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โดยโรคเบาจืดจะเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถใช้หรือผลิตฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (vasopressin) ได้เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่บอกไตให้ปล่อยน้ำเข้าสู่เลือดในเวลาที่ร่างกายต้องการ แต่หากเป็นโรคเบาจืดสามารถส่งผลให้ การทำงานของฮอร์โมนวาโซเพรสซินผิดปกติ จนส่งผลให้คุณอาจรู้สึกเหนื่อย ไม่สบาย มึนงง และกระหายน้ำอย่างมาก นอกจากนี้คุณอาจปัสสาวะประมาณ 15 ลิตรต่อวัน หรือปัสสาวะมากกว่าปกติ 5 ครั้ง หากคุณมีอาการดังที่กล่าวมา ควรปรึกษาคุณหมอ
5.ยาขับปัสสาวะ
กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะที่ตับและไตมีปัญหา ซึ่งการกินยาขับปัสสาวะสามารถทำให้ปัสสาวะบ่อย และอาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียโซเดียมและโพแทสเซียมมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยคุณอาจรู้สึกวิงเวียน และคลื่นไส้อาเจียน หากกินยาขับปัสสาวะแล้วเกิดผลข้างเคียงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับหรือเปลี่ยนยา
6.ดื่มแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีนมากเกินไป
แอลกอฮอล์ กับคาเฟอีน สามารถส่งผลต่อร่างกายคล้ายกับยาขับปัสสาวะ และจะขับน้ำออกจากร่างกายมาก นอกจากนี้ยังระงับการผลิตฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บอกให้ไตปล่อยน้ำให้ร่างกายมากขึ้น แทนที่จะส่งสัญญาณไปยังกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นควรค่อยๆ จิบน้ำเปล่า ไปพร้อมๆ กับการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือ งดการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ
7.เนื้องอก
เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ สามารถทำให้ปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นผลจากการมีเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หากคุณมีเลือดปนปัสสาวะ ถือเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง จึงควรไปพบคุณหมอทันทีหากปัสสาวะเป็นเลือดสด หรือมีลิ่มเลือดปน
8.นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาจมีอาการปัสสาวะสะดุด หรือปัสสาวะเป็นเลือดปนร่วมด้วย ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวแนะนำให้รีบมาพบแพทย์
9.ภาวะช่องคลอดอักเสบ
ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) เกิดขึ้นเมื่อช่องคลอดติดเชื้อ และอักเสบจากยีสต์ แบคทีเรีย ไวรัส ยา หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้สารเคมี ในครีม สเปรย์ หรือเสื้อผ้า คุณอาจคันหรือแสบเวลาปัสสาวะ รวมถึงเวลามีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้อาจมีตกขาว และอวัยวะเพศมีกลิ่น รวมถึงรู้สึกว่าต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น
10.ต่อมลูกหมากโต
ผู้ชายอายุเกิน 55 ปี มีปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่พุ่ง เป็นอาการของต่อมลูกหมากโต ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวแนะนำเพื่อมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย
ปัสสาวะบ่อย เมื่อไหร่ที่ต้องเป็นกังวล
ถ้าคุณปัสสาวะในปริมาณมากทุกวัน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจหมายถึงการเป็นโรคบางโรค เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive bladder) ซึ่งสามารถรักษาได้ นอกจากนี้ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ร่วมกับการปัสสาวะบ่อย ควรไปพบคุณหมอทันที
- มีไข้ และปวดหลัง
- มีเลือดในปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นสีขาวหรือสีขุ่น
- ปัสสาวะเปลี่ยนสี
- มีกลิ่นแรง หรือปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด