backup og meta

ติดเชื้อในช่องคลอด สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน

ติดเชื้อในช่องคลอด สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน

ติดเชื้อในช่องคลอด หมายถึง การติดเชื้อโรคทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน ทา หรือสอดช่องคลอด เพื่อฆ่าเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังป้องกันได้โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทำความสะอาดช่องคลอดสม่ำเสมอ และเลือกสวมใส่ชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นอันเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

ติดเชื้อในช่องคลอด คืออะไร

ติดเชื้อในช่องคลอด เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะช่องคลอดอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกวัย กลุ่มผู้หญิงที่อาจเสี่ยงติดเชื้อในช่องคลอดมากกว่ากลุ่มอื่นได้แก่

  • กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยโดยไม่ป้องกัน หรือกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • กลุ่มที่ใช้ยาฆ่าเชื้อบางชนิด หรือใช้ยาสเตียรอยด์
  • กลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน
  • กลุ่มที่สวนล้างช่องคลอด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ช่องคลอดระคายเคือง เช่น สบู่ น้ำหอม สเปรย์
  • กลุ่มที่สวมกางเกงหรือชั้นใน ที่ชื้นแฉะหรือรัดแน่นจนเกินไป
  • กลุ่มที่ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนไป เนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือกำลังเป็นประจำเดือน
  • กลุ่มที่มีระดับภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นผลพวงจากอาการป่วยหรือการใช้ยาบางชนิด

อาการ

อาการ ติดเชื้อในช่องคลอด

โดยทั่วไป ผู้ที่ติดเชื้อในช่องคลอด มักมีอาการดังต่อไปนี้

  • คันหรือแสบบริเวณช่องคลอด
  • ช่องคลอดแห้ง
  • รู้สึกแสบช่องคลอดเมื่อปัสสาวะ
  • พบเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
  • ผิวหนังโดยรอบช่องคลอด ปวด บวม หรือปริแตก

นอกจากนี้ เชื้อแต่ละชนิดยังทำให้ตกขาว ซึ่งโดยปกติจะใสหรือเป็นสีขาว รวมถึงกลิ่นไม่แรง มีลักษณะเปลี่ยนไปดังนี้

  • เชื้อรา ตกขาวจะข้นขึ้น คล้ายชีส โดยบางครั้งอาจใสกว่าปกติและไม่มีกลิ่น
  • เชื้อแบคทีเรีย ตกขาวจะมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • เชื้อไวรัส หากติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ตกขาวจะเป็นสีเทา หรือบางครั้งอาจพบเป็นสีชมพูหรือม่วง ขณะเดียวกัน หากติดเชื้อเอชเอสวี (HSV) ที่ทำเกิดโรคเริม ผู้ป่วยจะไม่พบความผิดปกติของตกขาว แต่จะพบแผลพุพองด้านนอกหรือด้านในช่องคลอด
  • เชื้อโปรโตซัว ตกขาวจะเป็นสีเขียวหรือเหลือง รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น

สาเหตุ

สาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอด

การติดเชื้อแต่ละชนิดในช่องคลอด มีสาเหตุจากการติดเชื้อโรค ดังต่อไปนี้

  • เชื้อรา หมายถึง เชื้อแคนดิดา ซึ่งพบได้ทั่วไปในช่องคลอด และช่องปากของมนุษย์ หากร่างกายอ่อนแอหรือสภาวะแวดล้อมเหมาะสมให้เกิดการแบ่งตัว เชื้ออาจเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้ รวมทั้งการเสียสมดุลของจำนวนจุลชีพในช่องคลอด เพราะการใช้ยาฆ่าเชื้อ หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • เชื้อแบคทีเรีย หมายถึง แบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ในช่องคลอด ซึ่งปกติจะมีทั้งชนิดดีและไม่ดี หากปริมาณของแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไปอาจทำให้ติดเชื้อในช่องคลอดและอักเสบได้ แม้การเพิ่มจำนวนแบคทีเรียในช่องคลอด จะไม่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง แต่การติดเชื้อดังกล่าวมักพบในบุคคลซึ่งมีคู่นอนหลายคน มากกว่าบุคคลซึ่งมีคู่นอนคนเดียว
  • เชื้อไวรัส เช่น เชื้อเอชเอสวี (HSV) สาเหตุของโรคเริม และเชื้อเอชพีวี (HPV) สาเหตุของโรคหูดที่อวัยวะเพศ โดยปกติจะแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่ง ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ การสัมผัสกับแผลพุพอง อันเป็นอาการของโรคเริม ยังทำให้ติดเชื้อเอชเอสวีได้ด้วย
  • เชื้อโปรโตซัว หมายถึง เชื้อทริโคโมแนต วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) เป็นพยาธิขนาดเล็กมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่สร้างความระคายเคืองแก่ผิวหนังส่วนที่บอบบาง สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์

โดยปกติการติดเชื้อในช่องคลอดจนทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบนั้น อาจไม่ใช่โรคหรือภาวะที่ติดต่อไปยังคู่นอนได้ ยกเว้นสาเหตุเกิดจากการเชื้อไวรัสบางชนิด

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

ควรรีบไปพบคุณหมอหากรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณช่องคลอดและมีอาการดังต่อไปนี้

  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น คัน หรือมีของเหลวที่มีกลิ่น สี ผิดปกติไหลออกมา
  • เคยติดเชื้อในช่องคลอดมาก่อน
  • มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น มีคู่นอนหลายคน ไม่สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของคุณหมอ แล้วพบว่าภาวะช่องคลอดอักเสบยังไม่ดีขึ้น
  • มีอาการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น เป็นไข้ ปวดท้องน้อย

การวินิจฉัยและรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการติดเชื้อในช่องคลอด

เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะตรวจคนไข้ด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอด

  • สอบถามและซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อดูว่าคนไข้เคยติดเชื้อบริเวณช่องคลอดมาก่อน หรือมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
  • ตรวจภายใน โดยคุณหมอจะสอดคีมถ่างช่องคลอดหรือคีมปากเป็ด (Speculum) ซึ่งเป็นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับตรวจภายใน เข้าไปในช่องคลอดของคนไข้ เพื่อตรวจดูลักษณะของสารคัดหลั่ง รวมถึงอาการอื่น ๆ เนื่องจากการติดเชื้อของคนไข้
  • ตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง ด้วยการเก็บสารคัดหลั่งจากช่องคลอดคนไข้ ไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าคนไข้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ เนื่องจากเชื้อโรคชนิดใด
  • ตรวจค่า pH ในช่องคลอด ด้วยการสอดแท่งหรือแผ่นทดสอบเข้าไปในช่องคลอด โดยค่า pH ที่สูงขึ้น อาจหมายถึงภาวะช่องคลอดอักเสบเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัว ทั้งนี้ การตรวจค่า pH ยืนยันสาเหตุของการติดเชื้อไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คุณหมอมักตรวจคนไข้ด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

การรักษาการติดเชื้อในช่องคลอด

การติดเชื้อในช่องคลอดรักษาได้ด้วยการรับประทานยา ทายาหรือเหน็บยาต้านเชื้อ ซึ่งคุณหมอจะจ่ายให้ตามชนิดของเชื้อโรค อันเป็นสาเหตุของอาการป่วย

แม้ว่าการติดเชื้อในช่องคลอดเป็นภาวะสุขภาพที่อาจหายได้เอง แต่ผู้ป่วยควรไปหาคุณหมอเมื่อมีอาการผิดปกติบริเวณช่องคลอด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองต่อการติดเชื้อในช่องคลอด

การติดเชื้อในช่องคลอดอาจป้องกันได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกสวมชั้นในที่ระบายอากาได้ดีและไม่ควรสวมชั้นในรัดแน่นเกินไป เพื่อป้องกันจุดซ่อนเร้นอับชื้น เพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อราเพิ่มจำนวน
  • ทำความสะอาดช่องคลอดสม่ำเสมอ ด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้ง ไม่ควรล้างช่องคลอดด้วยน้ำร้อน เนื่องอาจทำให้ช่องคลอดบาดเจ็บและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย เลือกมีคู่นอนคนเดียว เพื่อลดโอกาสได้รับเชื้อต่าง ๆ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะช่องคลอดอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginitis (Vaginal Infection). https://www.webmd.com/women/guide/sexual-health-vaginal-infections. Accessed March 22, 2022

Vaginitis. https://www.nhs.uk/conditions/vaginitis/. Accessed March 22, 2022

การติดเชื้อแคนดิดาที่ผิวหนังและเยื่อบุ. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1029#:~:text=%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99,%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99. Accessed March 22, 2022

Vaginitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/diagnosis-treatment/drc-20354713. Accessed March 22, 2022

เชื้อราในช่องคลอด. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=867. Accessed March 22, 2022

Genital Herpes – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/herpes/stdfact-herpes.htm. Accessed March 22, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และการรักษา

แบคทีเรียในช่องคลอด สาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา