backup og meta

หน้าอกใหญ่ อาจเสี่ยงต่อ ภาวะเต้านมโตผิดปกติ (Gigantomastia)

หน้าอกใหญ่ อาจเสี่ยงต่อ ภาวะเต้านมโตผิดปกติ (Gigantomastia)

หน้าอกใหญ่ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนอาจชื่นชอบและต้องการ อย่างไรก็ตาม หากมีหน้าอกใหญ่จนเกินไป อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่เรียกว่า ภาวะเต้านมโตผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการปวดเต้านม ปวดหลัง คอ และไหล่ รวมถึงยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลหรือติดเชื้อบริเวณเต้านมได้ง่าย ดังนั้น หากสังเกตพบความผิดปกติควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาในทันที

[embed-health-tool-ovulation]

หน้าอกใหญ่ เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะเต้านมโตผิดปกติ

ภาวะเต้านมโตผิดปกติ (Gigantomastia หรือ Macromastia) เป็นภาวะหายากชนิดหนึ่ง มีรายงานพบได้เพียงแค่ไม่กี่ร้อยเคสเท่านั้น ภาวะเต้านมโตผิดปกตินี้จะมีลักษณะเด่นๆ คือ เต้านมที่มีขนาดใหญ่โตมาก และอาจเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป อาการนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เองในช่วงขณะวัยรุ่น ตั้งครรภ์ หรือใช้ยาบางชนิด และจะเกิดขึ้นกับ ผู้หญิงเท่านั้น

นอกเหนือจากอาการเต้านมโตผิดปกติแล้ว ยังอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • อาการปวดเต้านม
  • อาการปวดหลัง ปวดคอ และปวดไหล่
  • บริเวณราวนมอาจจะมีรอยแดง หรืออาการคัน
  • หลังโก่งโค้ง หลังงอ ที่เกิดจากการที่หน้าอกมีน้ำหนักมากเกินไป จนถ่วงให้หลังโก่ง
  • อาจมีอาการติดเชื้อ หรือมีฝี
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น เต้านมหย่อนยาน
  • เป็นแผลที่ผิวหนัง
  • ปวดหัว
  • เส้นประสาทเสียหาย จนอาจส่งผลให้สูญเสียความรู้สึกที่บริเวณหัวนมไป

บางกรณีอาจจะมีขนาดเต้านมค่อยๆ ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้เวลาหลายปี แต่ก็มีบางกรณีที่ขนาดของเต้านมอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

ภาวะเต้านมโตผิดปกตินี้จัดได้ว่าเป็นภาวะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือก็คือไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ก็อาจนำมาสู่ปัญหาทางสภาพร่างกายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา บางคนอาจสามารถหายไปได้เอง แต่บางคนก็อาจจะต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดลดขนาดเต้านม

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเต้านมโตผิดปกติ

ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดภาวะเต้านมโตผิดปกติกันแน่ แต่เป็นที่คาดการณ์ว่า ภาวะเต้านมโตผิดปกตินี้อาจจะเกิดขึ้นจากพันธุกรรมและความไวต่อฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
  • การตั้งครรภ์
  • การใช้ยาที่อาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด
  • สภาวะที่เกี่ยวกับกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคลูปัส (Systemic lupus erythematosus) โรคข้ออักเสบเรื้อรัง หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis) เป็นต้น

วิธีจัดการกับ หน้าอกใหญ่ เพื่อรักษาภาวะเต้านมโตผิดปกติ

ทางเลือกในการรักษาภาวะเต้านมโตผิดปกตินั้นมีอยู่หลายทาง แต่ไม่มีทางไหนที่เป็นการรักษาที่เจาะจงสำหรับภาวะนี้โดยเฉพาะ โดยปกติแล้วแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ตามสภาวะของแต่ละบุคคล

เป้าหมายแรกของการรักษา จะเน้นไปที่การรักษาอาการติดเชื้อ บาดแผล อาการปวด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะเต้านมโตผิดปกติ โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ประคบร้อน หรือใช้ยาแก้ปวด เพื่อช่วยจัดการกับอาการต่างๆ จากนั้นแพทย์อาจจะทำการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนบำบัด

สำหรับในกรณีรุนแรง หรือหากอาการกลับมาเกิดขึ้นซ้ำๆ แพทย์อาจจะแนะนำวิธีการผ่าตัดลดขนาดเต้านม เพื่อช่วยกำจัดก้อนเนื้อส่วนเกินออกไป ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และอาจช่วยลดอาการปวดหลัง คอ และไหล่ และอาการหลังงอได้

นอกจากนี้ หากภาวะเต้านมโตผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยก็อาจหายได้เองหลังจากคลอดบุตรได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ และหาว่าวิธีการรักษาแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับคุณที่สุดจะดีกว่า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gigantomastia https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/9450/gigantomastia. Accessed September 30, 2022.

NIH GARD Information: Gigantomastia. https://rarediseases.org/gard-rare-disease/gigantomastia/. Accessed September 30, 2022.

Gigantomastia. https://radiopaedia.org/articles/gigantomastia. Accessed September 30, 2022.

Gigantomastia – https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S174868150700558X. Accessed September 30, 2022.

Gestational gigantomastia with massively haemorrhagic ulcers. https://pmj.bmj.com/content/98/1156/151. Accessed September 30, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย อาการ สาเหตุ การรักษา

หน้าอกไม่เท่ากัน ทำให้สาว ๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา