backup og meta

ง่วงนอนตลอดเวลา เสี่ยงเป็น โรคนอนเกิน

ง่วงนอนตลอดเวลา เสี่ยงเป็น โรคนอนเกิน

ง่วงนอนตลอดเวลา เคยมีอาการแบบนี้กันบ้างหรือไม่ แม้จะนอนหลับสนิทในช่วงกลางคืนและนอนครบ 8 ชั่วโมง แต่ตื่นมาแล้วกลับรู้สึกไม่สดชื่น แถมช่วงระหว่างวันก็ยังรู้สึกอยากจะนอนตลอด โดยที่ไม่รู้สาเหตุ รู้หรือไม่ว่า บางทีอาจเสี่ยงเป็น โรคนอนเกิน อยู่ก็เป็นได้

[embed-health-tool-bmi]

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) คืออะไร

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) มีอีกชื่อหนึ่งว่า Excessive Daytime Sleepiness (EDS) อาการของโรคนี้คือ ง่วงนอนตลอดเวลา ทั้งในเวลากลางวันหลังจากที่นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ในช่วงกลางคืนแล้วก็ตาม หรือใช้เวลานอนมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาไม่ตื่นตัวระหว่างวัน ผู้ที่เป็นโรคนอนเกินนั้นสามารถนอนหลับได้ตลอดเวลา เช่น หลับในที่ทำงาน หลับขณะขับรถ

นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว อาจมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น การขาดพลังงาน มีปัญหาในการคิด ทั้งยังส่งผลต่อสมาธิอีกด้วย นอกจากนั้น มักจะมีปัญหาในการทำงานระหว่างวัน เนื่องจากมักจะรู้สึกเหนื่อยบ่อย ๆ จนทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือกิจกรรมระหว่างวันได้

สาเหตุของโรคนอนเกิน

โรคนอนเกินสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • มีความผิดปกติในการนอนหลับ เช่น เป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) หรือง่วงนอนตอนกลางวัน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • นอนไม่เพียงพอในเวลากลางคืน หรืออดนอน
  • น้ำหนักเกิน
  • ใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ในทางที่ผิด
  • บาดเจ็บที่ศีรษะ หรือโรคระบบทางเดินประสาท เช่น เส้นเลือดตีบหลายเส้น หรือโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยากล่อมประสาท หรือยาแก้แพ้
  • เป็นพันธุกรรม ซึ่งอาจจะมีญาติเคยเป็นโรคนอนเกินก็เป็นได้
  • โรคซึมเศร้า

หาก ง่วงนอนตลอดเวลา อาจเสี่ยงเป็นโรคนอนเกิน

บางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเป็นโรคนอนเกินอยู่หรือเปล่า ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวคุณหรือไม่

  • งีบหลับเป็นประจำในระหว่างวัน
  • รู้สึกไม่สดชื่น
  • ง่วงนอนตลอดเวลา
  • หลับระหว่างวันบ่อยครั้งขณะรับประทานอาหารหรือพูดคุย
  • นอนหลับเป็นเวลาหลายชั่วโมงในเวลากลางคืน

หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ บอกเล่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยอาการ สาเหตุ และหาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีรักษาโรคนอนเกิน

สำหรับการรักษาโรคนอนเกินนั้น วิธีการรักษาอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้คุณเกิดโรคนอนเกิน  บางครั้งก็สามารถรักษาโรคนอนเกินได้ด้วยยาชนิดต่าง ๆ เช่น เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) โมดาฟินิล (Modafinil) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตก็ถือเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการบำบัดโรคนอนเกินที่เกิดขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้คุณนอนตามตารางเวลาปกติ หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่อาจทำให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะนอนเกินไม่ควรดื่มเหล้าหรือใช้ยา โดยแพทย์อาจจะแนะนำให้คุณรับประทานอาหารที่มีสารอาหารสูง เพื่อรักษาระดับพลังงานตามธรรมชาติเอาไว้

ง่วงนอนตลอดเวลา เสี่ยงโรคนอนเกิน ป้องกันได้อย่างไร

ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนอนเกินที่เป็นสาเหตุของอาการ ง่วงนอนตลอดเวลา ได้ แต่อาจหาวิธีลดความเสี่ยงได้ ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วงนอน
  • หลีกเลี่ยงการทำงานตอนกลางคืน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sleep and Hypersomnia. https://www.webmd.com/sleep-disorders/hypersomnia. Accessed June 27, 2023.

Hypersomnia. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21591-hypersomnia. Accessed June 27, 2023.

Sleep disorders. https://medlineplus.gov/ency/article/000800.htm. Accessed June 27, 2023.

Hypersomnia. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/hypersomnia.  Accessed June 27, 2023.

Excessive daytime sleepiness (hypersomnia). https://www.nhs.uk/conditions/excessive-daytime-sleepiness-hypersomnia/. Accessed June 27, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/06/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ง่วงนอนตอนบ่าย ทำยังไงให้กลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง

ฟู้ดโคม่า อาการง่วงนอนหลังกินข้าว ที่ชาวออฟฟิศเป็นกันเยอะ!


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา