บ้านหมุน (Vertigo) คือ อาการผิดปกติของหูชั้นใน ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการทรงตัว และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ร่วมด้วย บ้านหมุนอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด หูชั้นในอักเสบ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างโรคไมเกรน การบาดเจ็บบริเวณศีรษะและลำคอ เป็นต้น
คำจำกัดความ
บ้านหมุน คืออะไร
บ้านหมุน คือ อาการเวียนศีรษะที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการทรงตัว จนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เพราะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเอง หรือตัวเองกำลังหมุนทั้ง ๆ ที่อยู่กับที่ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหูอื้อร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 นาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมง อาการบ้านหมุนมักเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด หูชั้นในอักเสบ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคไมเกรน การบาดเจ็บที่ศีรษะและบริเวณคอ
อาการ
อาการบ้านหมุน
อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนอาจเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ 2-3 นาที หรืออาจนานเป็นชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน โดยอาการที่พบอาจมีดังต่อไปนี้
- สูญเสียการทรงตัว
- เดินเซ เอียง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ดวงตากระตุกหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ
- หูอื้อ
- เหงื่อออก
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาคุณหมอ และเข้ารับการรักษาทันที
- มีไข้
- มีปัญหาด้านการมองเห็น หรือสูญเสียการมองเห็น
- สูญเสียการได้ยิน
- มีอาการชา
- ขาหรือแขนอ่อนแรง
- หมดสติ
สาเหตุ
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดบ้านหมุน
สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (BPPV) เกิดจากตะกอนหินปูนภายในหูชั้นใน (Otoconia) ซึ่งมีหน้าที่รับรู้การเคลื่อนที่ของศีรษะหลุดจากที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน
- โรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของการสร้างน้ำในหูชั้นใน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากของเหลวคั่งอยู่ในหูชั้นใน และภายในหูชั้นในมีแรงดันเพิ่มขึ้น อาจส่งผลผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนศีรษะร่วมกับอาการหูอื้อ และสูญเสียการได้ยิน
- โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูชั้นในอักเสบ หรือหูชั้นในอักเสบ เกิดจากหูชั้นในอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งการติดเชื้อไวรัสของหูชั้นในรอบ ๆ เส้นประสาท อาจส่งผลต่อการทรงตัว
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น อาการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะหรือคอ ปวดศีรษะไมเกรน การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบประสาทภายในหูชั้นใน เช่น ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ยานีโอมัยซิน (Neomycin)
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยบ้านหมุน
ในเบื้องต้นคุณหมออาจซักประวัติและอาการของผู้ป่วย และทดสอบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวของดวงตา การเดินและทรงตัว และอาจใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อทดสอบว่าอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองหรือไม่
- การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง (Tuning Fork) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนศีรษะร่วมกับอาการหูอื้อ คุณหมออาจทดสอบประสิทธิภาพการได้ยินของผู้ป่วยโดยใช้ส้อมเสียงที่ความถี่ 128 Hz
การรักษาอาการบ้านหมุน
วิธีรักษาอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยบางรายสามารถหายได้เองเพียงนั่งพักนิ่ง ๆ หลังจากเกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน แต่หากมีอาการเรื้อรังติดต่อกันหลายเดือน คุณหมออาจทำการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การใช้ยา คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาไดเมนฮัยดริเนต (Dimenhydrinate) ยาเบตาฮีสทีน (Betahistine) เป็นต้น เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ หรือวิงเวียนที่เกี่ยวข้องกับอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หากเกิดอาการบ้านหมุนจากการติดเชื้อ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหรือสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการบวม นอกจากนี้ ในผู้ป่วยโรคน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาขับปัสสาวะชนิดเม็ด เพื่อบรรเทาน้ำคั่งในหูชั้นใน
- การผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีเนื้องอก ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณสมองและคอ ซึ่งการผ่าตัดอาจช่วยบรรเทาให้อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนได้
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการบ้านหมุน
การดูแลตนเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนได้
- ระมัดระวังการเคลื่อนไหว หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้ลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
- ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัด เช่น การเล่นโยคะ การทำกายภาพบำบัดด้วยการขยับศีรษะและคอช้า ๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น ไข่แดง ปลาแซลมอน ตับ ซีเรียล อาจช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ