backup og meta

ถั่วเขียว ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวัง

ถั่วเขียว ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวัง

ถั่วเขียว เป็นพืชตระกูลถั่วที่นิยมนำมาประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ โดยเฉพาะเมนูของหวาน การรับประทานถั่วเขียวอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความดันโลหิต ดีต่อการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วเขียวเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ การรับประทานถั่วเขียวในเมนูของหวานต่าง ๆ อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

[embed-health-tool-bmr]

สารอาหารใน ถั่วเขียว

การรับประทานถั่วเขียน 1 ถ้วย ( 7 ออนซ์ หรือประมาณ 202 กรัม) จะได้คุณค่าโภชนาการสำคัญ  ดังนี้

  • พลังงาน 212 แคลอรี่
  • ไขมัน 0.8 กรัม
  • โปรตีน 14.2 กรัม
  • ไฟเบอร์ 15.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 38.7 กรัม
  • โฟเลต 80 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณโฟเลตที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
  • แมงกานีส 30 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณแมงกานีสที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
  • แมกนีเซียม 24 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

นอกจากนี้ถั่วเขียวยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส สังกะสี โพแทสเซียม วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 ซิลีเนียม กรดอะมิโนจำเป็น และสารต้านอนุมูลอิสระ

ประโยชน์ของ ถั่วเขียว

ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

การรับประทานอาหารที่ให้ทั้งไฟเบอร์และโปรตีนในปริมาณที่สูงอย่างถั่วเขียวนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไฟเบอร์และโปรตีนจะเข้าไปชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้

ช่วยลดความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุของอาการทางสุขภาพหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือไตวาย เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในวิธีดี ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาความดันโลหิตสูงได้ก็คือการรับประทานอาหารที่ประโยชน์ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมสูง อย่างเช่น ถั่วเขียว เนื่องจากเมื่อสารโพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าไปช่วยคลายเนื้อเยื่อในเส้นเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก จึงลดความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงได้

ดีต่อสุขภาพลำไส้

ถั่วเขียวเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์สูง ซึ่งไฟเบอร์ในถั่วเขียวนั้นเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ถือเป็นอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในลำไส้ โดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะสลายไฟเบอร์ให้กลายเป็นกรดไขมันสายสั้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลำไส้สุขภาพดี และเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย

นอกจากนี้ไฟเบอร์ในถั่วเขียวยังทำหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว ช่วยให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น อีกทั้งคาร์โบไฮเดรตในถั่วเขียวก็ยังเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่สามารถย่อยได้ง่าย จึงช่วยลดอาการท้องผูกได้ดี

ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ที่กำลังอุ้มท้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจกับอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้รับอาหารที่เพียงพอและสารอาหารที่เพียงพอที่ครบถ้วน เพราะถ้ารับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาจมีผลต่อสุขภาพคุณแม่และมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้

ถั่วเขียวเป็นอีกหนึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากมีโฟเลตที่เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับทารกในครรภ์ ช่วยป้องกันความบกพร่องของระบบประสาทและสมอง และภาวะสุขภาพแต่กำเนิดอื่น ๆ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดด้วย

ดีต่อการลดน้ำหนัก

ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยดี ๆ ในการลดน้ำหนักอยู่ล่ะก็ ไม่ควรพลาดธัญพืชดี ๆ อย่างถั่วเขียว เพราะมีไฟเบอร์สูง การรับประทานอาหารที่ให้ไฟเบอร์ในปริมาณสูง จะช่วยให้อิ่มง่ายและอิ่มได้นานขึ้น ทั้งยังช่วยลดความอยากอาหารในมื้อต่อไปด้วย

มากไปกว่านั้น ถั่วเขียวก็ยังให้โปรตีนที่มีประโยชน์ในปริมาณสูงเช่นกัน การรับประทานอาหารที่ให้โปรตีน จะช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอ ลดความหิวโหยในระหว่างวันได้ 

ข้อควรระวังในการรับประทาน ถั่วเขียว

ถึงแม้ว่าถั่วเขียว จะเป็นธัญพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วเขียว หรือแพ้ธัญพืชตระกูลถั่ว ซึ่งถึงแม้จะพบได้น้อย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วเขียว เพื่อป้องกันความเสี่ยงของอาการแพ้กำเริบ
  • เนื่องจากถั่วเขียวอุดมไปด้วยไฟเบอร์สูง การรับประทานถั่วเขียวในปริมาณมาก อาจให้ผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารแทน เช่น ท้องอืด ท้องเสีย จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chemical composition and antioxidant activity of seeds of different cultivars of mungbean. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17995664/. Accessed July 25, 2023.

Chronic inflammation and oxidative stress as a major cause of age-related diseases and cancer. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19149749/. Accessed July 25, 2023.

In Vivo Antioxidant and Hypolipidemic Effects of Fermented Mung Bean on Hypercholesterolemic Mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26074993/. Accessed July 25, 2023.

Antihyperlipidemic activity of Clitoria ternatea and Vigna mungo in rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20673179/. Accessed July 25, 2023.

Mung Bean (Vigna radiata L.): Bioactive Polyphenols, Polysaccharides, Peptides, and Health Benefits. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6627095/. Accessed July 25, 2023.

Health benefits of mung beans. https://www.medicalnewstoday.com/articles/324156. Accessed July 25, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พีแคน กับคุณประโยชน์แห่งธัญพืชและข้อควรระวัง

ถั่วแดง โปรตีนสูง แคลอรี่ต่ำ ทางเลือกสำหรับคนรักษาสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา