backup og meta

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

โรคทริคิโนซิส เป็นภาวะติดเชื้อพยาธิประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการรับประทานตัวอ่อนพยาธิตัวกลม ในเนื้อสัตว์ที่ดิบหรือปรุงไม่สุก

คำจำกัดความ

โรคทริคิโนซิสคืออะไร

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis) หรือโรคบางครั้งเรียกว่าโรคทริคิเนลโลสิส (trichinellosis) เป็นภาวะติดเชื้อพยาธิตัวกลม (Roundworm) ประเภทหนึ่ง พยาธิตัวกลมใช้ร่างกายของผู้อาศัยในการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในสัตว์กินเนื้อ โดยเฉพาะหมี สุนัขจิ้งจอก และวอลรัส ภาวะติดเชื้อเกิดจากการรับประทานตัวอ่อนพยาธิตัวกลม ในเนื้อสัตว์ที่ดิบหรือปรุงไม่สุก

เมื่อมนุษย์รับประทานเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุก ที่มีตัวอ่อนพยาธิตัวกลม ตัวอ่อนจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่จะเติบโตเป็นพยาธิโตเต็มวัยในลำไส้ จากนั้น พยาธิที่โตเต็มวัยก็จะขยายพันธุ์ตัวอ่อน แพร่กระจายผ่านทางเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อ โรคทริคิโนซิสแพร่กระจายได้มากที่สุดในพื้นที่ชนบททั่วโลก

โรคทริคิโนซิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ถึงแม้ว่าจะไม่จำเป็นเสมอไป การป้องกันสามารถทำได้ง่าย

โรคทริคิโนซิสพบได้บ่อยเพียงใด

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการโรคทริคิโนซิสมีอะไรบ้าง

อาการของโรคทริคิโนซิสมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ จำนวนตัวอ่อนพยาธิที่แพร่กระจาย เนื้อเยื่อที่เชื้อแพร่กระจายเข้าไป และภาวะทางกายภาพทั่วไปของผู้ป่วย ผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่มีอาการ

อาการของโรคทริคิโนซิสเกิดขึ้นเป็นสองระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: การติดเชื้อในลำไส้ มีอาการใน 1 ถึง 2 วันหลังจากรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ มีอาการได้แก่ คลื่นไส้ ท้องเสีย มีตะคริวที่ช่องท้อง และมีไข้ต่ำ
  • ระยะที่ 2: อาการจากการแพร่กระจายของตัวอ่อนพยาธิตัวกลมในกล้ามเนื้อ มักเริ่มต้นหลังจากประมาณ 7 ถึง 15 วัน อาการได้แก่ ปวดและกดเจ็บกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะ และอาการบวมที่ใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาการปวดมักพบได้บ่อยที่สุดในกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ พูด เคี้ยวอาหาร และกลืน อาการผื่นที่ไม่คันอาจลุกลาม ในผู้ป่วยบางรายมีอาการตาแดง และเจ็บตาและไวต่อแสงจ้า

หากมีการพบตัวอ่อนพยาธิตัวกลมปรากฏตัวขึ้น หัวใจ สมอง และปอดอาจติดเชื้อ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ อาการชัก และปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอย่างรุนแรงอาจเกิดขึ้น อาจเสียชีวิตแต่พบได้น้อย

หากไม่รักษา อาการของโรคทริคิโนซิสอาจจะหายไปในเดือนที่สามของการติดเชื้อ ถึงแม้ว่ายังคงมีอาการปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียอย่างไม่ทราบสาเหตุได้ต่อไป

อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

โรคทริคิโนซิสเกิดจากอะไร

ผู้ป่วยเป็นโรคทริคิโนซิสจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมู เนื้อหมี หรือเนื้อม้า ที่ปนเปื้อนพยาธิตัวกลมของโรคทริคิโนซิสที่ยังโตไม่เต็มที่ (ระยะตัวอ่อน) ในธรรมชาติ สัตว์ติดเชื้อเมื่อกินสัตว์ชนิดอื่นที่ติดเชื้อ หมูและม้าสามารถติดเชื้อโรคทริคิโนซิสได้ เมื่อกินเศษอาหารที่ปนเปื้อนเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ สัตว์จำพวกวัวควายไม่กินเนื้อ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจติดโรคจากการรับประทานเนื้อวัว ที่ผสมอยู่กับเนื้อสุกรที่ติดเชื้อ หรือบดในเครื่องบดที่ใช้กับเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนมาก่อนหน้านี้

ปัจจัยเสี่ยง

อะไรที่เพิ่มความเสี่ยงสำหรับโรคทริคิโนซิส

มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคทริคิโนซิสหลายประการ เช่น

  • การประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โรคทริคิโนซิสแพร่กระจายในมนุษย์เมื่อรับประทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก เช่น สุกร หมูป่า หมีหรือเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่ปนเปื้อนจากการใช้เครื่องบดหรืออุปกรณ์อื่นๆ
  • พื้นที่ชนบท โรคทริคิโนซิสพบได้มากขึ้นในพื้นที่ชนบท ในสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อในอัตราที่สูงกว่าพบได้ในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกร
  • การบริโภคเนื้อสัตว์ป่า หรือสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อการค้า มาตรการด้านสาธารณสุขได้ลดอัตราการเกิดโรคทริคิโนซิส ในเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการค้าได้เป็นอย่างมาก แต่สัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อการค้า และเลี้ยงในฟาร์มมีอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่า โดยเฉพาะสัตว์ที่มีโอกาสสัมผัสกับซากสัตว์ป่า สัตว์ป่า ยังคงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่พบได้ทั่วไป

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

วินิจฉัยโรคทริคิโนซิสได้อย่างไร

เนื่องจากมีความแตกต่างจากภาวะติดเชื้อจากพยาธิประเภทอื่นๆ โรคทริคิโนซิสไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อพยาธิทริคิเนลลา สไปราลิส (Trichinella spiralis) ค่อนข้างเชื่อถือได้มากกว่า แต่ผลตรวจมักจะยังไม่เป็นบวก จนกระทั่ง 3 ถึง 5 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ หากผลตรวจเป็นลบ แพทย์มักยึดการวินิจฉัยโรคทริคิโนซิสในเบื้องต้นตามอาการ และการเพิ่มขึ้นของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (eosinophil) ในตัวอย่างเลือด การตรวจสารภูมิต้านทานสามารถทำซ้ำได้ในหลายสัปดาห์หลังจากนั้น เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย

การตัดเนื้อเยื่อมาตรวจ (ซึ่งตัวอย่างกล้ามเนื้อถูกตัดออกและตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์) ที่ดำเนินการหลังสัปดาห์ที่สองของการติดเชื้อ อาจเผยให้เห็นตัวอ่อนพยาธิหรือถุงน้ำ แต่มักไม่จำเป็น

รักษาโรคทริคิโนซิสได้อย่างไร

โรคพยาธิกล้ามเนื้อมักไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง โดยปกติภายในเวลาสองถึงสามเดือน อย่างไรก็ตาม อาการอ่อนเพลีย อาการปวดไม่รุนแรง อาการหมดแรง และอาการท้องเสียอาจยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ภาวะติดเชื้อที่มีอาการอาจตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้

  • ยาถ่ายพยาธิ (Anti-parasitic medication) ยาถ่ายหนอนพยาธิ (Anti-helminthic) เป็นแนวทางการรักษาแรกของโรคทริคิโนซิส หากพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคค้นพบได้เร็ว ยาแอลเบนดาโซล (Albenza) หรือยาเมเบนดาโซล (mebendazole) สามารถให้ผลดีในการกำจัดพยาธิและตัวอ่อนในลำไส้ คุณอาจมีอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงในระบบทางเดินอาหารได้ในระหว่างการรักษา หากมีอาการของโรคกลับคืนมา หลังจากที่ตัวอ่อนพยาธิฝังตัวเองในเนื้อเยื่อแล้ว การใช้ยาถ่ายพยาธิจะได้ผลน้อยลง แพทย์อาจสั่งยาให้ หากคุณมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ หรือระบบทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของพยาธิ
  • ยาแก้ปวด หลังจากพยาธิแพร่กระจายเข้าไปในกล้ามเนื้อ อาจให้ยาแก้ปวดเพื่อรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ท้ายที่สุดแล้ว ถุงน้ำที่อยู่ของตัวอ่อนในกล้ามเนื้อจะแข็งตัว เป็นการทำลายตัวอ่อนพยาธิ และอาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการอ่อนเพลียจะหายไป
  • ผู้ป่วยโรคทริคิโนซิสบางรายอาจมีอาการแพ้ เมื่อพยาธิแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และเมื่อตัวอ่อนพยาธิที่ตายแล้ว หรือกำลังจะตาย ปล่อยสารเคมีไว้ในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ แพทย์อาจสั่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อควบคุมการอักเสบในระหว่างการแพร่กระจายตัวของตัวอ่อนพยาธิ

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือโรคทริคิโนซิส

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณห่างจากโรคทริคิโนซิสได้

  • หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ให้มั่นใจว่าเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ นอกเหนือจากสัตว์ปีกและสัตว์ปีกตามธรรมชาติ มีการปรุงให้สุกทั่วถึง และห้ามตัดหรือรับประทานเนื้อเป็นเวลาอย่างน้อยสามนาที หลังจากนำออกจากความร้อน ให้ปรุงเนื้อสุกรหรือเนื้อวัวบดด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 71 องศาเซลเซียส โดยรับประทานได้ทันทีหลังจากปรุงสุก การใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิเนื้อ เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อสัตว์ได้รับการปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง
  • หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ป่าที่ปรุงไม่สุก สำหรับทั้งเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่และบด ให้ปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิภายในอย่างน้อย 71 องศาเซลเซียส
  • หลีกเลี่ยงสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก สำหรับเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่และเนื้อบด ให้ปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิภายในอย่างน้อย 74 องศาเซลเซียส สำหรับเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ให้ปล่อยเนือสัตว์ปีกทิ้งไว้สามนาทีก่อนตัดหรือรับประทาน
  • แช่แข็ง การแช่แข็งเป็นเวลาสามสัปดาห์จะกำจัดพยาธิทริคิเนลลาได้ในเนื้อบางประเภท อย่างไรก็ดี พยาธิทริคิเนลลาในเนื้อหมีไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการแช่แข็งแม้กระทั่งเป็นเวลานาน แต่การแช่แข็งก็อาจไม่จำเป็น หากคุณมั่นใจว่าเนื้อสัตว์ได้รับการปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง
  • ให้รับทราบว่า การแปรรูปอาหารวิธีอื่นๆ ไม่สามารถกำจัดพยาธิได้ การแปรรูปหรือการเก็บรักษาเนื้อสัตว์วิธีอื่นๆ เช่น การรมควันและการดอง ไม่สามารถกำจัดพยาธิทริคิเนลลาในเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อได้
  • ทำความสะอาดเครื่องบดเนื้อสัตว์ให้ทั่วถึง หากคุณบดเนื้อสัตว์ของคุณเอง ให้มั่นใจว่าเครื่องบดสะอาดหลังจากการใช้งานแต่ละครั้ง

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Trichinosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichinosis/symptoms-causes/syc-20378583. Accessed January 2, 2018.

Trichinosis. http://www.msdmanuals.com/home/infections/parasitic-infections/trichinosis. Accessed January 2, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หวัดนก (H5N1) โรคระบาดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง!

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป 'LAAB' เสริมภูมิประชากรกลุ่มเสี่ยง ป้องกันได้ 83%


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา