ร่างกายกำลังส่งคำเตือนบางอย่างถึงคุณหรือไม่ สัญญาณโรคมะเร็งกระดูก เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น แต่โรคมะเร็งกระดูกก็ถือเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราได้เช่นกัน สำหรับสัญญาณโรคมะเร็งกระดูกที่อาจกำลังกวนใจคุณหรือคุณกำลังละเลยอยู่ จะมีอะไรบ้างนั้น ลองมาเช็กไปพร้อม ๆ กันกับบทความนี้
สัญญาณโรคมะเร็งกระดูก มีอะไรบ้าง
เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง หรือร่างกายของคุณเกิดมีโรคร้ายเข้ามาก่อกวน สัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นกับร่างกายคือสิ่งสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้าม สัญญาณโรคมะเร็งกระดูกก็เช่นกัน เมื่อเนื้องอกในกระดูกเติบโตขึ้น มันจะเข้าไปกดทับและทำลายเนื้อเยื้อกระดูกโดยรอบ จึงทำให้สัญญาณเตือนเหล่านี้ขึ้นกับร่างกาย
- ปวด คุณกำลังมีอาการปวดกระดูกบริเวณส่วนใดในร่างกายอยู่หรือไม่ นี่คือสัญญาณเตือนแรกของเนื้องอกในกระดูกที่จะมีอาการปวดและบวมบริเวณเนื้องอก ความเจ็บปวดจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งเมื่อคุณเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บปวดด้วยเช่นกัน
- ข้อต่อบวมและตึง เนื้องอกเกิดขึ้นในข้อต่อหรือใกล้บริเวณข้อต่ออาจทำให้เกิดอาการบวม จึงทำให้การเคลื่อนไหวโดยใช้ข้อต่ออาจเกิดอาการเจ็บปวดได้
- เดินกะเผลก หากกระดูมีเนื้องอกหรือเกิดการแตกหักของกระดูก อาจทำให้บริเวณนั้นอ่อนแรงและทำให้เดินกะเผลก เนื่องจาก มีอาการเจ็บปวดจนเดินไม่ถนัด
- อาการอื่น ๆ พบได้น้อย เนื้องอกในกระดูกสามารถส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น มีไข้ น้ำหนักลด ภาวะโลหิตจาง
ถ้าหากคุณมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ คือ มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืน ถึงแม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่ช่วยบรรเทาอาการ ควรรีบพบคุณหมอโดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งกระดูก
สาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งมะเร็งกระดูกอาจเกิดจากการกลายพันธุของ DNA ที่กระตุ้นให้สร้างเนื้องอกหรือเข้าไปยับยั้งการทำงานของยีนต้านเนื้องอก ในบางคนอาจมีการกลายพันธุ์ของ DNA ที่สืบทอดทางพันธุกรรม จึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งกระดูกมากขึ้น
ความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระดูก
ปัจจัยเสี่ยง คือ สิ่งที่เข้าไปกระตุ้นและเพิ่มโอกาสให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มะเร็งกระดูกพบเพียง 1% ของมะเร็งทั้งหมด และพบได้บ่อยในเด็กจนถึงวัยกลางคน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นการกลายพันธ์ของยีนที่สืบทอดทางพันธุกรรมและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งกระดูก โดยเฉพาะมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
- หากเคยรักษาด้วยรังสีบำบัด อาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งกระดูกได้
- หากเคยรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งกระดูกได้
- การกลายพันธ์ของยีนที่เรียกว่า “เรตินาโนบลาสโตมา (Retinoblastoma)“
- เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการฝังโลหะซ่อมแซมการแตกหักก่อนหน้า
- โรคพาเก็ท (Paget Disease) เป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งส่งผลกับกระดูก ทำให้เกิดการก่อตัวของเนื้อเยื่อกระดูกที่ผิดปกติ
หากร่างกายของคุณกำลังส่งสัญญาณเหล่านี้อยู่ หรือคุณมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย อย่านิ่งนอนใจควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับคำปรึกษาที่ถูกต้องแล้วเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป