backup og meta

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ที่ควรรู้และใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ที่ควรรู้และใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น

มะเร็งปอดมีหลากหลายประเภท แต่วันนี้ทาง Hello คุณหมอ ขอนำเสนอข้อมูล มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) คืออะไร แล้วมีวิธีสังเกตอาการอย่างไร ไปดูกันเลย

คำจำกัดความ

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก คืออะไร

มะเร็งปอดชนิดหลัก ๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer: NSCLC) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer: SCLC) โดยมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อของปอด และยังสามารถแบ่งยิบย่อยลงไปอีก

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กพบได้บ่อยเพียงใด

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กพบได้ประมาณ 85-87 % ของผู้ป่วย เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับการรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

อาการของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก อาจเติบโตช้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเริ่มมีอาการเกิดขึ้น โดยอาการที่แสดงให้เห็นทั่วไป อาจมีดังนี้

  • อาการไอเรื้อรัง
  • ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะออกมาเป็นเลือด
  • เสียงแหบแห้ง
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • หายใจลำบาก หรือหายใจถี่ขึ้นผิดปกติ
  • เวลาหายใจมีเสียงดังฮืด ๆ
  • อ่อนเพลียง่าย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ความอยากอาหารลดลง

แต่ถ้าหากมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ แล้วอาจมีอาการ ปวดกระดูก ปวดศีรษะ เวียนหัว และปัญหาด้านการทรงตัว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นหากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากใครมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น หรือรู้สึกมีความกังวลกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ โปรดรับคำปรึกษาจากคุณหมอ

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

แพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสาเหตุของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กเกิดจากสิ่งใดเป็นหลัก โดยปัจจัยอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่มือสอง การสูดดมสารพิษหลายชนิดเป็นประจำ และสิ่งอื่น ๆ ที่อาจเป็นแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มีเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) การได้รับรังสีจากการฉายรังสีหรือCT SCAN อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ หรือยาเส้น
  • อาศัยอยู่ในที่มีมลพิษทางอากาศสูง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควันต่าง ๆ
  • การสัมผัสกับสารเคมีและสารบางชนิด เช่น สารหนู เบริลเลียม นิกเกิล
  • การสัมผัสหรือสูดดมควันดีเซลเป็นเวลาหลายปี
  • เรดอน สารกัมมันตรังสีที่เป็นแก๊ส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส มีอยู่ในดินและหินตามธรรมชาติ
  • การได้รังสี เช่น การฉายรังสี

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กนั้นแพร่กระจายช้า บางครั้งอาการต่าง ๆ ยังไม่แสดงออกมา หรือหากแสดงออกมา แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ซักถามประวัติสุขภาพ ประวัติพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยว่าสูบบุหรี่หรือเปล่า ทำงานเกี่ยวกับอะไร และคำถามอื่น ๆ เพื่อพิจารณาในการวินิจฉัย
  • การตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูสัญญาณสุขภาพทั่วไป รวมถึงการตรวจหาสัญญาณของโรค เช่น ก้อนเนื้อหรือสิ่งอื่นที่ดูผิดปกติ
  • การทดสอบภาพ เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมายิ่งขึ้น และยังสามารถแสดงให้เห็นว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปหรือไม่
    • เอ็กซ์เรย์ทรวงอก เพื่อดูตำแหน่งของก้อนเนื้อในปอด
    • การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก MRI
    • CT SCAN
    • อัลตราซาวนด์
    • การตรวจเพทสแกน (PET scan)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ หรือสารอื่น ๆ
  • การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ โดยการนำเสมหะไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาเซลล์มะเร็ง (หากไม่มีเสมหะอาจป้ายสารคัดหลั่งบริเวณคอหอยไปตรวจแทนได้)
  • การตรวจชิ้นเนื้อเป็นการตรวจที่ให้ผลแน่นอนที่สุด

วิธีการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

วิธีการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก อาจจะรักษาตามระยะของโรค และอยู่ที่ดุลยพินิจของคุณหมอที่ทำการรักษา โดยวิธีการรักษามีดังนี้

  • ศัลยกรรม หากผู้ป่วยอยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการผ่าตัด เพื่อนำเอามะเร็งออก
  • การฉายรังสี เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงหรือรังสีชนิดอื่น เพื่อทำลาย หรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • การให้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สามารถรับประทาน หรือฉีด ผู้ป่วยอาจได้รับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง และหลังการผ่าตัด หรือทั้งก่อน/หลัง หรือแม้แต่ไม่ได้ผ่าตัด

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางอย่างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยลดปัจจัยการเป็นโรคมะเร็ง หรือหลังรับการรักษาแล้วก็ตาม ได้แก่

  • งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น
  • พยายามกินอาหารมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ แทนที่จะกินอาหารมื้อใหญ่ 2-3 มื้อ
  • การฝึกการผ่อนคลายให้กับตนเอง เช่น การนั่งฟังเพลง นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรก
  • การนวดเบา ๆ หรืออโรมาเธอราพี อาจช่วยบรรเทาความเครียด
  • พูดคุยกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้คุณ หรือคนในครอบครัวให้มากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lung Cancer – Non-Small Cell: Symptoms and Signs. https://www.cancer.net/cancer-types/lung-cancer-non-small-cell/symptoms-and-signs. Accessed August 11, 2021

Non-Small-Cell Lung Cancer. https://www.webmd.com/lung-cancer/non-small-cell-lung-cancer. Accessed August 11, 2021

Lung cancer symptoms. https://www.cancercenter.com/cancer-types/lung-cancer/symptoms. Accessed August 11, 2021

Non-Small Cell Lung Cancer Treatment (PDQ®)–Patient Version. https://www.cancer.gov/types/lung/patient/non-small-cell-lung-treatment-pdq. Accessed August 11, 2021

Treatment Choices for Non-Small Cell Lung Cancer, by Stage. https://www.cancer.org/cancer/lung-cancer/treating-non-small-cell/by-stage.html. Accessed August 11, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การรับรู้ ระยะของโรคมะเร็งปอด ช่วยคุณสู้มะเร็งได้อย่างไร

มาทำความรู้จักกับ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) กันเถอะ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา