มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) ถึงแม้จะเป็นมะเร็งที่พบได้เพียงร้อยละ 3 ในผู้หญิง แต่มะเร็งรังไข่ก็มีอัตราการเสียชีวิตสูง เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะบางส่วนมักแสดงอาการน้อย กว่าจะทราบก็มีการแพร่กระจายมากขึ้น และขาดการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม หรืออาจจะละเลยการตรวจไป วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาทำความเข้าใจกับ ความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งยังสัมพันธ์กับประวัติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงด้วยอีกประการหนึ่ง
ผลของการตั้งครรภ์ต่อ ความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่
มีหลายการศึกษาเผยว่า ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรหรือผู้ที่คลอดบุตรเมื่อมีอายุมาก จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่สูงมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์ และอุ้มท้องจนถึงครบกำหนดคลอดก่อนอายุ 26 ปี
ความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ จะลดลงตามระยะเวลาการตั้งท้อง จนครบกำหนดคลอดในแต่ละครั้ง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลังจากอายุ 35 ปี หรือคลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าที่ผู้ตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอด
จากสมมติฐานว่า ยิ่งผู้หญิงได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มากเท่าใด ในชีวิตก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้นเท่านั้น การคลอดบุตรจัดเป็น “การปกป้อง’ อย่างหนึ่ง เนื่องจากในช่วงการตั้งครรภ์ ร่างกายของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีการตกไข่นานถึง 9 เดือน ทำให้ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมามากตามไปด้วย
นอกจากนี้ โอกาสในการเป็นมะเร็งรังไข่จะยิ่งลดลงมากขึ้น หากผู้หญิงเลือกที่จะให้นมบุตร สมมติฐานอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อผู้หญิงตกไข่ ถุงน้ำรังไข่ที่ถูกขับออกมา อาจเกิดการกลายพันธ์ุ (Genetic mutations) และทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้
ความเสี่ยงอื่น ๆ ของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่สัมพันธ์กับปัจจัยหลายประการ ประการแรก คือ ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังจากอายุ 50 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น และผู้มีอายุมากกว่า 63 ปี จะมีโอกาสมากขึ้นในการเป็นมะเร็งรังไข่
นอกจากนี้ผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนก็มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นโรคมะเร็งรังไข่ เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันสามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนที่หมุนเวียนมากขึ้นในร่างกาย ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งยังลดลง หลังจากการรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลา 3-6 เดือน (ชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเท่านั้น)
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด ปัจจัยทางพันธุกรรมยังมีบทบาทในการเกิดมะเร็งรังไข่ (ซึ่งความเป็นไปได้เกิดจากทั้งฝ่ายแม่และฝ่ายพ่อ) ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้สามารถสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการรับพันธุกรรมของยีนที่มีการกลายพันธ์ุบางชนิด เป็นสาเหตุร่วมกันของมะเร็งประเภทนี้ทั้งหมด
ดังนั้น ถ้าหากคุณมีข้อกังวล เกี่ยวกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที