backup og meta

มะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติบริเวณเนื้อเยื่อชั้นในของหลอดอาหาร โดยหลอดอาหารเป็นท่อที่เชื่อมต่อจากคอลงสู่กระเพาะอาหาร ในการกลืนแต่ละครั้งกล้ามเนื้อหลอดอาหารจะบีบตัวและดันอาหารตกลงสู่กระเพาะ มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และส่วนใหญ่มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

คำจำกัดความ

มะเร็งหลอดอาหาร คืออะไร

มะเร็งหลอดอาหาร เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เนื้อเยื่อชั้นในของหลอดอาหารเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้าย โดยเกิดจากเนื้อเยื่อชั้นในโตออกสู่ผนังด้านนอก และแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือด รวมถึงอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น ปอด ตับ และอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย โดยมะเร็งหลอดอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  • เซลล์มะเร็งชนิดสความัส (Squamous Cell Carcinoma) เกิดที่เซลล์เยื่อบุผนังหลอดอาหาร บริเวณส่วนต้นและส่วนกลางของหลอดอาหาร
  • เซลล์มะเร็งชนิดอะดีโน (Adenocarcinoma) มักพบในตำแหน่งหลอดอาหารส่วนปลายและรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร พบได้บ่อยแค่ไหน

World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research เผยว่า ในปี 2018 มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก และเกิดขึ้นบ่อยที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ในผู้ชาย เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบ่อยเป็นอันดับที่ 13 ในผู้หญิง

อาการ

อาการของมะเร็งหลอดอาหาร

สัญญาณและอาการของมะเร็งหลอดอาหาร อาจมีดังนี้ 

  • กลืนลำบาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารนิ่ม อาหารเหลว หรือแม้แต่น้ำ
  • อาหารไม่ย่อย หรือเรอบ่อย 
  • ไอเรื้อรัง
  • เจ็บหน้าอก  
  • เหนื่อยง่าย และไม่มีแรง 

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากมีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น ควรไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกวิธี 

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์

สาเหตุ

สาเหตุการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร 

สาเหตุของการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน อาจเกิดจากการที่เซลล์ในหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต และแบ่งตัว โดยเซลล์ผิดปกติอาจก่อตัวเป็นเนื้องอกในหลอดอาหาร และลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร อาจมีดังต่อไปนี้

  • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณ 45-70 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง
  • เพศชาย มีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า
  • สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • สัมผัสสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน 
  • รับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และอาหารที่มีแร่ธาตุต่างๆ น้อยเกินไป
  • เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • ภาวะหลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrett’s Esophagus) ซึ่งเป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารทำลายเซลล์บุผนังหลอดอาหาร
  • โรคอ้วน 

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งหลอดอาหาร 

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร

การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหารมีหลายวิธี โดยอาจมีวิธีดังต่อไปนี้ 

  • การสอบถามประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูสุขภาพทั่วไป รวมถึงตรวจหาสัญญาณของโรค เช่น ตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติในร่างกายหรือไม่ และสอบถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อประกอบการวินิจฉัย 
  • การตรวจชิ้นเนื้อ มักทำระหว่างการส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อออกจากหลอดอาหาร ซึ่งเซลล์จะถูกตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหามะเร็ง
  • การกลืนแป้งสารทึบแสง (Barium Swallow X-ray) เป็นการตรวจทางรังสีของหลอดอาหาร โดยการดื่มสารทึบรังสี ซึ่งจะไปเคลือบหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก และทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นระยะ ๆ ทำให้มองเห็นก้อนเนื้อหรือความผิดปกติ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) แสดงภาพอวัยวะภายในแบบ 3 มิติ ช่วยให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา มักใช้เพื่อประเมินขอบเขตของเนื้องอกที่แพร่กระจายไปยังหน้าอก และช่องท้อง

วิธีการรักษามะเร็งหลอดอาหาร 

วิธีการรักษามะเร็งหลอดอาหาร อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้ 

  • การผ่าตัด โดยนำบางส่วนของหลอดอาหารออก รวมถึงเนื้อเยื่อบางส่วนที่อยู่รอบ ๆ หลอดอาหาร 
  • การฉายรังสี เป็นวิธีการรักษาโรคโดยใช้รังสีพลังงานสูงหรือสารกัมมันตภาพรังสี เพื่อฆ่าหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยใช้ลำแสงรังสีฉายไปยังเนื้องอก โดยอาจฉายก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดเนื้องอก หรือหลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่
  • การให้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการรับประทาน หรือฉีดเข้าเส้นเลือด บางครั้งอาจใช้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดของเนื้องอก แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ผมร่วง 

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ให้มากขึ้น 
  • งดการสูบบุหรี่ หรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer). https://www.chulacancer.net/patient-knowledge-inner.php?gid=28. Accessed September 10, 2021 

Esophageal cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/esophageal-cancer/symptoms-causes/syc-20356084. Accessed September 10, 2021 

Esophageal Cancer. https://www.webmd.com/cancer/esophageal-cancer. Accessed September 10, 2021 

What is oesophageal cancer?. https://www.nhs.uk/conditions/oesophageal-cancer/. Accessed September 10, 2021 

Esophageal Cancer Treatment (Adult) (PDQ®)–Patient Version. https://www.cancer.gov/types/esophageal/patient/esophageal-treatment-pdq. Accessed September 10, 2021 

Esophageal Cancer. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/6137-esophageal-cancer. Accessed September 10, 2021 

Oesophageal cancer statistics. https://www.wcrf.org/dietandcancer/oesophageal-cancer-statistics/. Accessed September 10, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/09/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ระยะของมะเร็ง แต่ละระยะบอกอะไรกับเราบ้าง

กลืนอาหารลำบาก เจ็บคอ แสบร้อนกลางอก อาจเสี่ยงเป็น โรคหลอดอาหารอักเสบ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา