backup og meta

เซลล์มะเร็ง เซลล์ต้นเหตุโรคร้าย แล้วเรามีเซลล์นี้ไหมนะ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 20/07/2021

    เซลล์มะเร็ง เซลล์ต้นเหตุโรคร้าย แล้วเรามีเซลล์นี้ไหมนะ

    โรคมะเร็งเป็นโรคไม่ติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะแทบทุกส่วนภายในร่างกาย โรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งช่องปาก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง และถึงแม้เราจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโรคมะเร็งกันมานานแล้ว แต่เราเชื่อว่า หลาย ๆ คนน่าจะยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เซลล์มะเร็ง อย่างจำกัด วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจเรื่องเซลล์มะเร็งให้มากขึ้น พร้อมทั้งยังมีเคล็ดลับในการลดความเสี่ยงโรคมะเร็งง่าย ๆ มาฝากคุณด้วย

    เซลล์มะเร็ง ต่างจากเซลล์ปกติอย่างไร

    วัฏจักรของเซลล์ปกตินั้นเป็นไปอย่างมีระบบชัดเจน เริ่มจากร่างกายสร้างเซลล์ขึ้นมา เซลล์จะเจริญเติบโตและแบ่งตัว เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพเท่านั้น เซลล์ที่เจริญเติบโตเต็มที่ หรือที่เรียกว่า เซลล์เจริญวัย (Mature cell) มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง และเมื่อเซลล์เหล่านั้นทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จ ก็จะตายลง ถือเป็นการจบวัฏจักรของเซลล์

    แต่เซลล์มะเร็ง คือเซลล์กลายพันธุ์ที่มีวัฏจักรของเซลล์ผิดแปลกไปจากปกติ และไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเหมือนเซลล์ปกติ กล่าวคือ เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ ซึ่งส่งผลให้เซลล์สูญเสียคุณสมบัติในการควบคุมการเจริญเติบโต การแบ่งตัว และการตาย เซลล์มะเร็งจึงสามารถเจริญเติบโตและแบ่งตัวไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ตายลงอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อร่างกายมีเซลล์มะเร็งในปริมาณมาก จึงทำให้เกิดโรคมะเร็งขึ้น

    เราทุกคนมี เซลล์มะเร็ง ในร่างกายหรือเปล่า

    คำตอบสำหรับคำถามนี้คือ “ไม่” เราทุกคนไม่ได้มีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย โดยปกติแล้ว เซลล์ร่างกายจะตายลง และร่างกายจะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ตายไปอย่างสม่ำเสมอ เซลล์บางเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่ก็อาจมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แถมในบางครั้ง ร่างกายก็อาจผลิตเซลล์ที่ทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเราได้ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เซลล์ที่มีความผิดปกติเหล่านี้จะต้องกลายเป็นเซลล์มะเร็งเสมอไป

    ส่วนใหญ่แล้ว เซลล์ที่ดีเอ็นเอถูกทำลายหรือผิดปกติจะสามารถซ่อมแซมตัวเอง หรือตายลงไปในกระบวนการที่เรียกว่า อะพอพโทซิส (Apoptosis) แต่หากเซลล์ที่ผิดปกติไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ หรือไม่ตายลงไปตามกระบวนการธรรมชาติ ความเสี่ยงในการที่เซลล์ดังกล่าวจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งและก่อให้เกิดโรคมะเร็งก็จะเพิ่มขึ้น

    สาเหตุของการเกิด เซลล์มะเร็ง

    ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เซลล์มะเร็งเกี่ยวข้องกับเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่ดีเอ็นเอถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดจากการกลายพันธุ์แต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น

    • การสูบบุหรี่
    • การสัมผัสกับรังสียูวีจากแสงแดดหรือการอาบแดด
    • การสัมผัสกับรังสี (Radiation) เช่น รังสีรักษาหรือการฉายรังสี
    • การกินอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารแปรรูปมากเกินไป
    • การขาดกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical inactivity)
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เรดอน ตะกั่ว แร่ใยหิน
    • การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus; HPV) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

    วิธีลดความเสี่ยงมะเร็ง ที่คุณทำได้ง่าย ๆ

    แม้เราจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เคล็ดลับในการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งให้คุณได้

    • ไม่สูบบุหรี่ ทั้งแบบดั้งเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า
    • เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม หรืองดเครื่องดื่มมึนเมา
    • ปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดด ไม่ใช้ชีวิตกลางแจ้งในช่วงที่แดดจัด สวมหมวกและแว่นกันแดด
    • กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้หลากหลาย เช่น กินผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น ลดหรืองดการบริโภคอาหารแปรรูป น้ำตาล เนื้อแดง
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยทั่วไปคือ ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูงสัปดาห์ละ 75 นาที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 20/07/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา