backup og meta

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มีกี่ชนิดกันนะ แล้วชนิดไหนรุนแรงกว่ากัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

    มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มีกี่ชนิดกันนะ แล้วชนิดไหนรุนแรงกว่ากัน

    มะเร็ง คือ โรคร้ายที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น แต่เซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้เซลล์ต่าง ๆ มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะลุกลาม และแพร่กระจายทั่วร่างกาย โดยวันนี้เราจะกล่าวถึง มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ที่เกิดจากการผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว อยากทราบกันไหมว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งออกมาใหญ่ ๆ ได้กี่ชนิด ต้องมาติดตามกัน

    มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีกี่ชนิด

    มะเร็งเม็ดเลือดขาว มี 2 ชนิด แต่ยังสามารถแบ่งประเภทของชนิดลงไปตามแขนงได้อีก แต่วันนี้เราจะพามารู้จักกับ 2 ชนิดหลัก ๆ ก็คือ

    1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง การที่เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมามากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ ผู้ที่ป่วยเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะไม่ค่อยปรากฏอาการออกมาเท่าไร ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้นานประมาณ 3-5 ปีขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเลือด
    2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของ เม็ดเลือดขาว เพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว ซึ่งการแบ่งตัวดังกล่าวจะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก

    มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน สามารถแบ่งได้กี่ชนิด

    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวฉียบพลันชนิดลิมโฟไซติก (Acute Lymphocytic Leukemia หรือ ALL) เป็นชนิดของโรคมะเร็งในเลือดที่จะเริ่มต้นในเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้พบยากในผู้ใหญ่ แต่สามารถพบได้บ่อยในเด็ก
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia หรือ AML) เป็นมะเร็งที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมและความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์ ที่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นเซลล์แก่ได้ แต่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูกจำนวนมาก

    โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มักมีความรุนแรง และรวดเร็วมากกว่าชนิดเรื้อรัง ในเรื่องของระยะของวันหรือเวลา โดยสัมพันธ์กับระดับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักจะมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ

    การรักษา โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

    • เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาหลักสำหรับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ เคมีบำบัดมีทั้งชนิดรับประทานและฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง
    • การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการรักษาที่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Transplantation) เป็นการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด และไขกระดูกของตัวผู้ป่วย ญาติ พี่น้อง หรือผู้บริจาคท่านอื่น ๆ ที่สามารถตอบสนองเข้ากันได้ดีกับร่างกายผู้ป่วยมาใช้ในการปลูกถ่าย

    ในการรักษามีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร

    อย่างที่ทุกคนเข้าใจกันดีว่า การรักษามะเร็งมักมีผลข้างเคียงตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการ ผมร่วง มีแผลในปาก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อาการทางผิวหนัง ผลข้างเคียงของเคมีบำบัดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับยาที่ใช้ และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาจจะมีอาการเกิดรอยช้ำ เลือดออก และเมื่อยล้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วย รวมไปถึงการมีบุตรในอนาคตได้

    ปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากการรับประทานอาหาร หรือการได้รับสารเคมีที่มีสารก่อให้เป็นมะเร็ง โดยสาเหตุดังกล่าว ทำให้สารพันธุกรรมภายในเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง และเสียหายได้ จนพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ซึ่งการตรวจพบเจอก่อน ก็จะทำให้สามารถรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา