HbA1c หรือ Glycated Hemoglobin คือ ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด ที่แสดงถึงระดับน้ำตาลที่สะสมอยู่ในเลือดตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดย HbA1c ค่าปกติ ของคนทั่วไปจะอยู่ที่น้อยกว่า 5.7% การตรวจ HbA1c มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกทั้งช่วยให้คุณหมอและผู้ป่วยเบาหวานประเมินแผนการรักษาที่ผ่านมาว่าได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน และใช้เป็นแนวทางเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อีกด้วย
[embed-health-tool-bmi]
HbA1c ค่าปกติ อยู่ที่เท่าไหร่
ผลการตรวจ HbA1c สามารถอ่านค่าเป็นเปอร์เซ็นเพื่อการวินิจฉัยโรคได้ดังนี้
- คนทั่วไป ค่า HbA1c จะอยู่ในระดับ ต่ำกว่า 5.7%
- ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ค่า HbA1c จะอยู่ระหว่าง 5.7-6.4%
- โรคเบาหวาน ค่า HbA1c จะอยู่ในระดับตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป
สำหรับการตรวจ HbA1c เพื่อประเมินผลการรักษาโรค คุณหมอจะนัดให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมาตรวจ HbA1c เพื่อติดตามผล ทุก 6 – 12 เดือน (ประมาณ 2 ครั้ง/ปี) ผู้ป่วยควรควบคุมให้ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดไม่เกิน 6.5% ซึ่งเป็นช่วงที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงเท้า
ประโยชน์ของการตรวจ HbA1c
การตรวจ HbA1c มีประโยชน์ดังนี้
- วินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวาน
- วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ช่วยประเมินแผนการรักษาโรคเบาหวานในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตอบสนองต่อยารักษาเบาหวานของร่างกาย การรับประทานอาหาร รวมไปถึงการออกกำลังกาย หากผลค่า HbA1c สูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมคุณหมอจะประเมินเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โดยทั่วไป การหาค่า HbA1c ทดสอบได้ 2 วิธี ดังนี้
- บุคลากรทางการแพทย์จะส่งตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดไปยังห้องแล็ปซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างแม่นยำแต่ใช้ระยะเวลารอผลค่อนข้างนาน
- บุคลากรทางการแพทย์จะเจาะเลือดจากปลายนิ้วของผู้รับการทดสอบซึ่งทราบผลภายในไม่กี่นาที ทั้งนี้ การทดสอบด้วยวิธีนี้จะใช้เพื่อประเมินผลการรักษาโรคเบาหวานเท่านั้น ไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้
วิธีลดค่า HbA1c ทำได้อย่างไรบ้าง
การดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงและอยู่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจลองปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่นอนหรือนั่งอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ออกไปนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรมทางกายให้เป็นนิสัย เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ จอดรถไกลจากอาคารเพื่อให้ได้เดินออกกำลังกาย ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- รับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน รับประทานไฟเบอร์ 25-30 กรัม/วัน เน้นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงมากเกินไปอย่างข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช และควรเลือกผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น อะโวคาโด มะเฟือง สตรอว์เบอร์รี องุ่น หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มักมีน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม น้ำหวาน พิซซ่า มันฝรั่งทอด คุกกี้ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม
- รับประทานยารักษาเบาหวานตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำทุกวัน หากควบคุมให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้มักมีแนวโน้มที่ค่า HbA1c จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เลือกกิจกรรมที่สนใจเพื่อให้มีแรงจูงใจในการออกกำลังกายบ่อย ๆ เช่น เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ เดินเร็ว ทำสวน