การควบคุมอาหาร สำหรับผู้เป็น เบาหวาน ขณะ ตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูงขึ้น และยังอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-heart-rate]
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ เบาหวานที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-32 ของการตั้งครรภ์และอาจหายไปเองหลังคลอด หรืออาจพัฒนาไปเป็นเบาหวานตลอดชีวิต ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องได้รับการดูแลในเรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์
นอกจากนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ โรคดีซ่าน น้ำตาลในเลือดต่ำแต่กำเนิด ทารกมีขนาดตัวใหญ่ซึ่งอาจทำให้คลอดยากและได้รับบาดเจ็บขณะคลอดได้ สิ่งสำคัญเพื่อช่วยจัดการกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในตอนเช้าหลังตื่นนอน หลังกินอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในการควบคุมที่เหมาะสม หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนการดูแลรักษา เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์
เป้าหมายของการรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดังนี้
- 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร. หรือน้อยกว่า ก่อนรับประทานอาหาร
- 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
- 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง
การควบคุมอาหาร ของผู้ป่วย เบาหวาน ขณะ ตั้งครรภ์
การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจทำได้ด้วยการเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
-
เลือกกินคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ
คาร์โบไฮเดรตทุกชนิดส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การเลือกประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพจึงสำคัญและควรแบ่งการกินอาหารให้เป็นมื้อเล็ก ๆ 3 มื้อและของว่าง 3 มื้อ/วัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลคงที่ ดังนี้
- ควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น มัลติเกรน โฮลเกรน ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ซึ่งเป็นธัญพืชไม่ขัดสีและมีเส้นใยสูง ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
- ควรเลือกกินผักและผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (GI) ให้มากขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้มีเส้นใยสูงอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ เช่น ส้มโอ เชอร์รี่ แอปเปิ้ล แก้วมังกรฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ ผักโขม ผักกาดหอม มะเขือม่วง บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี
- หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว มันฝรั่ง เฟรนช์ฟราย ลูกอม น้ำอัดลม ขนมหวาน ซึ่งเป็นชนิดคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายและดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
-
เลือกกินโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ
โปรตีนมีความสำคัญต่อความแข็งแรงของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อไม่ติดมัน เนื้อไก่ลอกหนัง ปลา ไข่ ชีสไขมันต่ำ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ถั่ว ถั่วลันเตา ถั่วชิกพี ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้สมดุล
-
เลือกอาหารไขมันต่ำ
จำกัดปริมาณไขมันในแต่ละวันและควรเลือกกินไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่ว หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อติดมัน เนื้อติดหนัง เค้ก คุกกี้ ขนมหวาน อาหารแปรรูป
-
ลดน้ำตาล
พยายามจำกัดปริมาณน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้เติมน้ำตาล น้ำอัดลม เค้ก ช็อกโกแลต ไอศกรีม บิสกิต โดยอาจหันมากินอาหารที่มีน้ำตาลน้อยลง เช่น นมไขมันต่ำ ชา น้ำผลไม้สด กาแฟไม่มีคาเฟอีน หรือใส่สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำเพื่อเพิ่มรสชาติ
-
เสริมแคลเซียมและธาตุเหล็ก
ในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายต้องการแคลเซียมและธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ มวลกระดูกและความแข็งแรงของคุณแม่และทารกในครรภ์ จึงควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมไขมันต่ำ เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต และเสริมธาตุเหล็กจากเนื้อแดง ไก่ ปลา อย่างน้อย 2-3 มื้อ/วัน
นอกจากการควบคุมอาหารแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นประจำ เช่น การเดิน โยคะ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายสำหรับการคลอดบุตร