backup og meta

การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

การออกกำลังกาย ถือว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดความเครียดและความวิตกกังวล สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกายอาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น จึงทำให้อินซูลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกดีขึ้น และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดภาวะดื้ออินซูลินได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับชนิดและระยะเวลาการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างออกกำลังกาย

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน ซึ่งการออกกําลังกายนั้นมีประโยชน์ ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือมีภาวะโรคอ้วน สามารถลดน้ำหนักได้
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยังปรับปรุงค่าน้ำตาลกลูโคสที่จับอยู่กับฮีโมโกลบินเอซีวัน (HbA1c) สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
  • ช่วยลดความดันโลหิต เพราะหากผู้ป่วยเบาหวานมีความดันโลหิตสูง อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล เพื่อช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • ช่วยให้น้ำตาลในเลือดถูกส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้เยอะขึ้น 
  • ช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • ช่วยให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่นที่ดีขึ้น
  • ช่วยรักษามวลกระดูก
  • ช่วยในเรื่องของร่างกายและจิตใจ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน หรือสารแห่งความสุข ซึ่งช่วยลดระดับความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้น

การออกกำลังกายจะยิ่งมีประโยชน์ เมื่อเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไม่สูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

สิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้ก่อนออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้ก่อนเริ่มออกกำลังกายอาจมีดังนี้

  1. ปรึกษาและวางแผนการออกกำลังกายกับคุณหมอ เพราะคุณหมอจะทราบว่าผู้ป่วยเบาหวานควรลดน้ำหนักหรือลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ คุณหมอยังอาจช่วยแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และอาจช่วยดูว่าผู้ป่วยเบาหวานต้องเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาหรือปรับอาหารที่รับประทานอยู่หรือไม่
  2. ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างออกกำลังกายด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าร่างกายต้องการอาหารว่างหรือไม่ และควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดทุกครั้งหลังจากออกกำลังกายเสร็จ เพื่อจะได้ทราบว่าต้องปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่
  3. ควรพกอาหารว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตเล็กน้อย เช่น ผลไม้ น้ำผลไม้ที่ไม่เติมน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น สปอร์ตเจล กลูโคสแบบเม็ดติดตัวไว้เสมอ เพราะการออกกำลังกายอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
  4. ออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น เดิน ว่ายน้ำ เต้นรำ โยคะ เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ควบคู่กับการออกกำลังกายที่ช่วยฝึกความแข็งแรงของร่างกายทุกส่วน เช่น ยกน้ำหนัก วิดพื้น กระโดด อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรออกกำลังเพียงคนเดียว เพราะหากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจต้องได้รับความช่วยเหลือทันที 
  5. ในช่วงเริ่มต้น อาจออกกำลังกายครั้งละ 10 นาที/วัน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาให้ครบ 30 นาที/วัน และควรหยุดออกกำลังกายหากมีอาการเหงื่อออกมากกว่าปกติ ปวดหัว หน้ามืด วิตกกังวล อ่อนแอ หรือหัวใจเต้นแรง

การออกกำลังกาย ที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

การออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้

  • การออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Exercise) เป็นการออกกำลังกายซ้ำ ๆ โดยการใช้เครื่องยกน้ำหนัก ตุ้มน้ำหนักในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ก่อนออกกำลังกายแบบแรงต้าน ผู้ป่วยเบาหวานควรขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อป้องกันอันตรายหรืออาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการยกน้ำหนัก
  • การฝึกแบบหนักสลับเบา (Interval Training) เป็นการออกกำลังกายแบบช่วงสั้น ๆ โดยออกกำลังกายแบบเข้มข้นประมาณ 30 วินาที สลับกับการออกกำลังกายแบบเบา ๆ ประมาณ 1-2 นาที เช่น วิ่งจ็อกกิ้งเบา ๆ สลับกับการเดินเร็ว 
  • การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น ปั่นจักรยาน จ็อกกิ้ง เดิน เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการหายใจ และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ

หากรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ควรปรึกษากับคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับตนเอง

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The importance of exercise when you have diabetes. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/the-importance-of-exercise-when-you-have-diabetes. Accessed January 14, 2022

diabetes and exercise. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/managing-your-diabetes/exercise. Accessed January 14, 2022

Exercise Tips for Type 2 Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/exercise-guidelines. Accessed January 14, 2022

Exercise & activity. https://www.diabetes.ca/nutrition—fitness/exercise—activity. Accessed January 14, 2022

Benefits of Exercise. https://dtc.ucsf.edu/living-with-diabetes/activity-and-exercise/benefits-of-exercise/. Accessed January 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/02/2023

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

10 วิธีป้องกันโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 23/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา