backup og meta

6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อย เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป แต่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่ในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน นำไปสร้างเป็นกล้ามเนื้อและเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อเซลล์ได้รับน้ำตาลน้อยลง ก็อาจทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ 

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 90%-95% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย และปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น โรคเบาหวานอาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด เส้นประสาท ดวงตา ไต ดังนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจมีแนวโน้มเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต

    6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

    1. รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์

    พฤติกรรมการรับประทานอาหารและอาหารที่เลือกรับประทาน อาจมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

    • อาหารที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรับประทานเข้าไป จึงอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเป็นบ่อยหรือเรื้อรังอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
    • เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม ชานมเย็น ชาเขียวเย็น ชาไข่มุก มักเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ตัวอย่างเช่น ชาไข่มุก 1 แก้ว อาจมีน้ำตาลสูงถึง 8-11 ช้อนชา ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลกับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะเมตาบอลิกซินโดรมหรือโรคอ้วนลงพุง ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Diabetes Care ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง 1-2 แก้ว/วัน เป็นประจำ อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือดื่มแค่ไม่เกินเดือนละ 1 แก้ว ถึง 26% จึงควรจำกัดปริมาณน้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
    • อาหารที่มีไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัวมาก ไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างไขมันทรานส์ที่มักพบในของทอด ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น และไขมันอิ่มตัวที่มักพบในเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อวัวติดมัน เบคอน แฮม รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม อย่างชีส เนย อาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ European Journal of Nutrition ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งได้ศึกษารูปแบบการรับประทานอาหารและความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์และเป็นโรคอ้วนจำนวน 20,835 คน ผลการวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารจำพวกไขมันและน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม เฟรนช์ฟรายส์ ขนมคบเคี้ยว เป็นประจำและไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือขยับร่างกาย

    1. ไม่เคยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

    ผู้ป่วยส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อภาวะก่อนเบาหวาน มีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาว่า 9 ใน 10 คน มีภาวะก่อนเบาหวานแต่ไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าหากได้ตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลก่อนที่จะเป็นเบาหวาน อาจจะสามารถวินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวาน และทำให้มีโอกาสในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนการใช้ยา โดยการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันการเป็นเบาหวานในที่สุด

    ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar Level หรือ Blood Glucose Level) เป็นการบอกปริมาณของกลูโคสในเลือด โดยกลูโคส คือ น้ำตาลที่มาจากอาหาร ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสามารถบอกได้ว่า กำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ และยังบอกได้ว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หรือเปล่า โดยระดับน้ำตาลในเลือดอาจแบ่งได้ดังนี้

    • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
    • ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน
    • ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
    1. ออกกำลังกายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์

    การออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง ฉะนั้น หากมีไม่ชอบออกกำลังกายและมีพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง นอนดึก เครียด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคอ้วนก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรออกกำลังกาย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เช่น วิ่ง เดินเร็ว เต้นแอโรบิค เพราะนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว ยังช่วยทำให้อินซูลินทำงานเป็นปกติ ซึ่งช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย

  • ปล่อยให้ตนเองอ้วน
  • หากเป็นโรคอ้วนเป็นเวลานาน จนกระทั่งมีไขมันสะสมในช่องท้อง ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ หากอยากทราบว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ อาจตรวจสอบง่าย ๆ ด้วยการวัดรอบเอว โดยข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) และสถาบันโรคหัวใจ ปอด และโลหิตวิทยาแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Heart, Lung, and Blood Institute หรือ NHLBI) ระบุว่า หากผู้หญิงมีรอบเอวหนากว่า 35 นิ้ว (88.9 เซนติเมตร) หรือผู้ชายมีรอบเอวหนากว่า 40 นิ้ว (101.6 เซนติเมตร) ถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

    นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนร่วมกับมีปัญหาคอดำและรักแร้ดำ นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีลดน้ำหนักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

    1. ไม่รับประทานผักและผลไม้ หรืออาหารที่มีไฟเบอร์

    ผักและผลไม้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และไฟเบอร์ ซึ่งไฟเบอร์มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น มีส่วนทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานลดลงได้ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และช่วยควบคุมน้ำหนัก ไฟเบอร์พบมากในอาหารประเภทผักและผลไม้ การรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น จึงอาจช่วยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้

    1. ลดน้ำหนักเร็วเกินไป หรือลดน้ำหนักในระยะสั้น

    การลดน้ำหนักเร็วเกินไป หรือลดน้ำหนักในระยะสั้น หมายถึง การลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ได้รับความนิยม แต่ส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การอดอาหาร การงดแป้ง การงดน้ำตาล หรือการรับประทานยาลดความอ้วน ซึ่งอาจเห็นผลในระยะสั้น แต่อาจเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน การลดน้ำหนักตามกระแสอาจเป็นอันตราย เพราะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น หากมีพฤติกรรมชอบลดน้ำหนักเร่งด่วนด้วยวิธีที่กำลังเป็นกระแส มีน้ำหนักไม่คงที่ มีน้ำหนักลดฮวบฮาบในระยะหนึ่งแล้วน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็ว ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้และหันไปลดความอ้วนด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน เช่น ควบคุมปริมาณอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    การปรับพฤติกรรมเสี่ยงให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยอาจแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน และช่วยลดน้ำหนัก นอกจากนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา นมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผักและผลไม้ ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ รวมถึงดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 
    • ออกกำลังกาย 30-60 นาที/วัน เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แต่หากไม่รู้ว่ากิจกรรมไหนเหมาะสมกับตนเอง อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จากนั้น เริ่มต้นอย่างช้า ๆ และสร้างเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อจะได้มีจุดมุ่งหมายในการออกกำลังกาย
    • ลดน้ำหนัก นอกจากจะช่วยป้องกันโรคเบาหวานแล้ว ยังป้องกันโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การลดน้ำหนัก 5%-10% ของน้ำหนักตัวปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น หากน้ำหนัก 90 กิโลกรัม แล้วลดน้ำหนักประมาณ 4.5-9 กิโลกรัม อาจช่วยลดความเสี่ยง โรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพื่อจะได้หาวิธีลดน้ำหนักอย่างเหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา