backup og meta

น้ำตาลในเลือดสูง 170 เป็นอันตรายหรือไม่

น้ำตาลในเลือดสูง 170 เป็นอันตรายหรือไม่

น้ำตาลในเลือดสูง 170 หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือด 170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากปล่อยทิ้งไว้น้ำตาลอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้ จึงควรดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง งดสูบบุหรี่และเข้าใกล้ควันบุหรี่มือสอง เป็นต้น

[embed-health-tool-bmi]

น้ำตาลในเลือดสูง 170 อันตรายไหม

โดยทั่วไป ผู้ที่มีระดับน้ำตาลที่สูงกว่า 160-180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) สำหรับผู้ที่เจาะเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานแล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดสูง 170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจำเป็นต้องไปพบคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษาและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

ในส่วนของผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูง 170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าแผนการรักษาเบาหวานที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพมากพอ หากปล่อยทิ้งไว้จนน้ำตาลขึ้นสูงเรื่อย ๆ ไปถึง 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตรอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับแผนการรักษาหรือการใช้ยาให้เหมาะสม รวมทั้งปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดต่ำลงมาอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

น้ำตาลในเลือดสูง 170 มีอาการอย่างไร

ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง 170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจยังไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนมากจนเป็นที่สังเกต เพราะตามปกติแล้ว อาการน้ำตาลในเลือดสูงจะไม่มีอาการที่เด่นชัดจนกระทั่งน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงไปที่ 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งระดับน้ำตาลจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานเท่าไหร่ อาการก็จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

อาการที่เป็นสัญญาณเบื้องต้นของผู้ป่วยเบาหวาน เช่น

  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • สายตาพร่ามัว
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
  • ผิวแห้ง
  • เป็นแผลแล้วแผลหายช้ากว่าที่ควร

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้ตนเองมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปลอดภัยจะทำให้เกิดการสะสมของคีโตนในกระแสเลือดและปัสสาวะจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ดังนี้

  • หายใจมีกลิ่นผลไม้
  • ปากแห้ง
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจถี่รัว
  • สับสน มึนงง
  • หมดสติ

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง 170

หากปล่อยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง 170 จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่หลอดเลือดหรือเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยก่อให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
  • โรคไตเรื้อรัง โรคไตวาย
  • โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
  • ปัญหาสุขภาพเท้า เช่น เท้าเป็นแผลง่าย เท้าติดเชื้อ หากอาการรุนแรงอาจทำให้ต้องตัดนิ้วหรือเท้าบางส่วน
  • ปัญหาโรคเหงือกและฟัน

วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ควรดูแลตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการที่ดี ควรกินอาหารให้สมดุลกับระดับอินซูลินในร่างกาย สำหรับผู้ที่ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
  • ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวันด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด (BGM) ซึ่งจะช่วยประเมินการรักษาเบาหวานว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
  • รับประทานยารักษาเบาหวานให้ตรงเวลาทุกวันและปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด หากต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสุขภาพโดยรวมและตรวจคัดกรองโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น ตรวจตาทุกปี อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ตรวจหาระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ตรวจหัวใจ ตรวจความดันโลหิต การทำงานของไต ตรวจเหงือกและฟัน ตรวจระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetic Ketoacidosis. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetic-ketoacidosis.html. Accessed June 15, 2023

Hyperglycemia in diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperglycemia/symptoms-causes/syc-20373631. Accessed June 15, 2023

complications of diabetes. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/complications. Accessed June 15, 2023

High blood sugar (hyperglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/. Accessed June 15, 2023

Diabetes Complications. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-complications. Accessed June 15, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/07/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเบาหวาน เกิดจาก อะไร ป้องกันได้อย่างไร

ภาวะ แทรกซ้อน โรค เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงและวิธีดูแลตัวเอง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา