backup og meta

หนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

หนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

หนังหุ้มปลายอักเสบ (Balanitis) เกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบบริเวณส่วนปลายของอวัยวะเพศชาย ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยขลิบอวัยวะเพศ หรือมีสุขอนามัยที่ไม่ดี จนเกิดการหมักหมมของเชื้อโรคจนอักเสบ นอกจากนี้ เบาหวาน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของภาวะหนังหุ้มปลายอักเสบได้เช่นกัน ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรระมัดระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพื่อป้องกันเสี่ยงการเกิดหนังหุ้มปลายอักเสบ

[embed-health-tool-bmr]

หนังหุ้มปลายอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน

ในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลที่แฝงอยู่ในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อปัสสาวะที่เต็มไปด้วยน้ำตาลไหลผ่านไปยังอวัยวะเพศและใต้หุ้มหนังปลายอวัยวะเพศ ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์ที่ส่งผลให้หนังหุ้มปลายอักเสบ และอาจทำให้เนื้อบริเวณหนังหุ้มปลายเน่าตาย 

นอกจากนี้ เบาหวานยังอาจส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การทำงานผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรค การไหลเวียนของเลือดบกพร่อง จนนำไปสู่การสะสมของแบคทีเรียในปัสสาวะ ทำให้อาจมีหนองปนในปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หากปล่อยไว้นาน หรือมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี อาจทำให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ยากขึ้น

ประเภทของหนังหุ้มปลายอักเสบ

หนังหุ้มปลายอักเสบอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. เซอร์ซิเนส บาลานิติส (Circinate Balanitis) อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายที่เป็นโรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis) ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ ส่งผลให้หัวองคชาตเกิดแผล อักเสบ บวม และมีรอยแดง
  2. ซูโดแอปพิเลียลิโอเมทัส เคราโทติก (Pseudoepitheliomatous Keratotic) และเมเคทรัส บาลานิติส ( Micaceous Balanitis) อาจทำให้บริเวณหัวองคชาตเกิดหูดที่เป็นสะเก็ด ภาวะหนังหุ้มปลายอักเสบประเภทนี้พบได้ยาก มักส่งผลกระทบต่อผู้ชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่ง
  3. ซูน บาลานิติส (Zoon’s Balanitis) เป็นโรคหนังหุ้มปลายอักเสบประเภทที่พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นกับเพศชายวัยกลางคนที่ไม่ได้เข้ารับการขลิบ ซึ่งอาจส่งผลทำให้หัวองคชาตแดง อักเสบ และรู้สึกเจ็บปวด

สัญญาณเตือนของหนังหุ้มปลายอักเสบและเบาหวาน

สัญญาณเตือนของหนังหุ้มปลายอักเสบและเบาหวาน อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

สัญญาณเตือนของหนังหุ้มปลายอักเสบ

  • อวัยวะเพศบวมแดง และมีอาการคัน
  • รู้สึกเจ็บแสบร้อนบริเวณผิวหนังหุ้มปลายที่ได้รับผลกระทบ
  • มีสารคัดหลั่งสีขาว หรือสีเหลืองจับตัวเป็นก้อน
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • อวัยวะเพศเป็นแผล และอาจมีเลือดออกรอบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

รอยพับบริเวณผิวหนังสามารถดักจับเซลล์ที่ตายแล้ว สารคัดหลั่ง และน้ำมันได้ หากไม่ล้างทำความสะอาดเป็นประจำ สิ่งสกปรกเหล่านี้อาจสะสมและก่อตัวเป็นขี้เปียก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหนังหุ้มปลายอักเสบและมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวัน และทำกิจกรรมทางเพศได้ลำบากขึ้น

สัญญาณเตือนของเบาหวาน

  • กระหายน้ำ รู้สึกหิวตลอดเวลา
  • มองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน
  • ผิวหนังติดเชื้อ
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • แผลหายช้า
  • ปัสสาวะบ่อย

โรคเบาหวานส่งผลต่อโรคหนังหุ้มปลายอักเสบอย่างไร

หนังหุ้มปลายที่แน่นจนไม่สามารถดึงกลับเพื่อเปิดหัวองคชาตได้ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคเบาหวานในผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ ผู้ชายประมาณ 25% ที่เป็นโรคหนังหุ้มปลายอักเสบ อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่มืด อบอุ่น และชื้น ร่วมกับการมีน้ำตาลปนในปัสสาวะ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหนังหุ้มปลายอักเสบได้เช่นกัน

สาเหตุของ หนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน

สาเหตุโดยทั่วไปที่อาจทำให้เกิดโรคหนังหุ้มปลายอักเสบ อาจได้แก่ การล้างอวัยวะเพศไม่ถูกวิธี การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเชื้อราที่ปากหรือลำคอ แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดจากสาเหตุดังนี้ 

  • ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 
  • อาจเป็นผลข้างเคียงจากยางบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน เช่น ดาพากลิโฟลซิน (Dapagliflozin) เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์โดยการขับน้ำตาลออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ซึ่งน้ำตาลเป็นแหล่งที่ทำให้ยีสต์เจริญเติบโตได้ดี 
  • มีน้ำหนักเกิน 
  • มีภาวะที่ทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้ เช่น โรคหัวใจ ตับ ไต 

การวินิจฉัย หนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคหนังหุ้มปลายอักเสบตามอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายเพื่อตรวจสอบว่าการติดเชื้อเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหนังหุ้มปลายอักเสบหรือไม่ นอกจากนี้ คุณหมอยังอาจตรวจสิ่งเหล่านี้

  • การตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและการติดเชื้ออื่น ๆ
  • การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจโรคประจำตัว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหนังหุ้มปลายอักเสบ
  • การเก็บสารคัดหลั่งบริเวณรูที่ส่วนปลายขององคชาต และส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ

การรักษา หนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน

ปัญหาหนังหุ้มปลายอักเสบเนื่องจากโรคเบาหวานสามารถบรรเทาอาการด้วยยาต้านเชื้อราโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาปฏิชีวนะต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือการทาครีมสเตียรอยด์บริเวณหนังหุ้มปลายที่ได้รับผลกระทบ หรืออาจแช่องคชาตในน้ำอุ่นผสมเกลือ เพื่อลดอาการบวม อีกทั้งยังควรรักษาโรคเบาหวานควบคู่ไปด้วย ด้วยการรับประทานยาตามอาการที่คุณหมอกำหนด หรือรับการบำบัดด้วยการฉีดอินซูลิน เพื่อป้องกันหนังหุ้มปลายอักเสบซ้ำ ๆ

วิธีป้องกันหนังหุ้มปลายอักเสบจากเบาหวาน

  • การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเช็กว่าตนเองเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่ 
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด 
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไขมันต่ำ ใยอาหารสูง 
  • ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • ล้างใต้หนังหุ้มปลายด้วยสบู่อ่อนเพื่อกำจัดแบคทีเรีย และเช็ดให้แห้ง
  • ใส่ถุงยางอนามัยที่ทำจากวัสดุอ่อนโยนต่อผิวอวัยวะเพศ
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่หนังหุ้มปลายอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

diabetes and sexual problems – in men. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/complications/sexual-problems-men. Accessed May 30, 2023.

Balanitis. https://www.nhs.uk/conditions/balanitis/. Accessed May 30, 2023.

Balanitis. https://www.webmd.com/men/penis-disorder-balanitis. Accessed May 30, 2023.

Balanitis. https://www.drugs.com/health-guide/balanitis.html. Accessed May 30, 2023.

Skin Complications. https://www.diabetes.org/diabetes/complications/skin-complications. Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

6 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อาการโรคเบาหวานระยะแรก สังเกตจากอะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา