เบาหวานลงไต หมายถึง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ตรวจพบโรคไต ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรระมัดระวังตัวเองในการรับประทานอาหาร ทั้งรสหวาน รสเค็ม เพื่อป้องกันการเกิดโรคไต ปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า โรคไตอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไตและโรคเบาหวาน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานอย่างโรคเบาหวานลงไตได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน ส่งผลต่อโรคไตอย่างไร
โรคเบาหวานสามารถเป็นสาเหตุของโรคไต โดยวัยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานประมาณ 1 ใน 4 คน เป็นโรคไตด้วย นอกจากนี้ทความเสียหายของไตที่เกิดจากโรคเบาหวาน ปกติจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นเวลาหลายปี ซึ่งทำให้อาจมีเวลาพอที่จะป้องกันความเสียหายของไตได้
การเป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานาน มักเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อไต ดังนั้น ถ้าเป็นโรคเบาหวาน อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไตได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
- ความดันโลหิตสูงเกินไป
โรคเบาหวาน อาจทำลายหน่วยกรองเล็ก ๆ ที่เรียกว่า เนฟรอน (Nephron) ได้ ซึ่งทำให้เกิดโรคไตจากเบาหวาน (Diabetic kidney disease) โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน จะเป็นโรคไตจากเบาหวานด้วย และระหว่างร้อยละ 10-20 เสียชีวิตจากภาวะไตวาย
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดความเสียหายที่เส้นประสาทและดวงตา และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น โรคเบาหวานยังสามารถทำลายเส้นประสาทของร่างกายหลายส่วน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ และอาจทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่กระเพาะปัสสาวะเสียหาย จนนำมาสู่ภาวะไตวายได้
อีกทั้งโรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำตาลในปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเกิดการติดเชื้อในไต ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาการติดเชื้อ และป้องกันสภาวะความเสี่ยงจากการติดเชื้อตามมา
โรคไต ส่งผลต่อโรคเบาหวานอย่างไร
โรคไตอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ในขณะเดียวกัน โรคเบาหวานอาจพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไต หากเป็นโรคหนึ่งโรคใดควรระมัดระวังเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการรับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง
โดยปกติ อาหารกลุ่มโปรตีนที่ร่างกายรับประทานเข้าไป จะถูกย่อยสลายให้เป็นยูเรีย (Urea) และเมื่อไตทำงานได้น้อยลง ก็จะทำให้ไม่สามารถขับยูเรียออกจากร่างกายได้ ทำให้มีระดับยูเรียในร่างกายสูงขึ้น โดยอาจทราบได้จากการตรวจเลือด หรือสังเกตจากอาการเบื่ออาหาร และลมหายใจมีกลิ่นจากภาวะไตวาย
ดังนั้น ผู้ที่มีระดับยูเรียสูงมีโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับยูเรียปกติ เนื่องจากเมื่อมียูเรียในเลือดเนื่องจากความผิดปกติของไต จะเพิ่มความต้านทานต่ออินซูลิน และมักจะส่งผลให้การหลั่งอินซูลินบกพร่อง
วิธีลดความเสี่ยงในการเป็น โรคไตกับโรคเบาหวาน
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ และหมั่นใส่ใจในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไตและโรคเบาหวาน รวมถึงโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ดังนี้
- ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมและเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด และควรไปพบคุณหมอเป็นประจำ
- ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง และควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดและอาหารไขมันสูง งดสูบบุหรี่
- ลดปริมาณโซเดียม ควรหลีกเลี่ยงการเติมเกลือหรือเครื่องปรุงรสเพิ่มในอาหาร และรับประทานอาหารโซเดียมต่ำ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจปรึกษาคุณหมอหากมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ผู้ชายไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิดวันละ 2 แก้วใน และผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว
- ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ
- ความเครียด จัดการกับความเครียดในชีวิต
- การนอนหลับ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน