เบาหวานขึ้น 300 อันตรายไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้ป่วยเบาหวานสงสัยและเป็นกังวล โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าคนปกติ โดยมักอยู่ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หากค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ระดับ 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อันตรายมาก โดยเฉพาะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน เพราะสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ดวงตา ไต หรือหลอดเลือดได้ การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม และรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมอ จะทำให้สามารถควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ได้ดี
[embed-health-tool-bmr]
เบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือด มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือด 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงถือว่าสูงมาก
ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดของคนที่มีสุขภาพปกติจะมีค่าน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) จะมีระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งทำหน้าที่คอยลำเลียงน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้มีน้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดมาก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเบาหวานชนิดที่ 2 ตับอ่อนของผู้ป่วยบางรายอาจผลิตอินซูลินได้ในระดับปกติ แต่เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินลดลงหรือดื้ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นถึงแม้จะมีอินซูลินเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
เบาหวานขึ้น 300 อันตรายไหม ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร
หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจนร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ที่ 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งถือว่าอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง และหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยไม่เข้ารับการรักษา อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพดังนี้
- ภาวะเลือดเป็นกรด เมื่อร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอในผู้ป่วยเบาหวาน ร่างกายผู้ป่วยได้รับพลังงานจากน้ำตาลน้อยลง และต้องสร้างพลังงานทดแทนจากการย่อยสลายไขมัน ทำให้เกิดสารซึ่งเรียกว่าคีโตน (Ketone) ในกระแสเลือด เมื่อมีคีโตนสะสมอยู่ในเลือดปริมาณมาก เลือดจะเป็นกรด ทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา
- หลอดเลือดถูกทำลาย ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีส่วนทำให้ผนังของหลอดเลือดฝอยซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ เสียหายได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหน็บชา ตะคริว หรือปวดบวมตามร่างกายบริเวณที่หลอดเลือดถูกทำลาย
- ไตเสียหาย น้ำตาลในเลือดสูงทำให้เส้นประสาทเสียหายได้ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ เนื่องจาก เส้นประสาทของกระเพาะปัสสาวะเสียหาย จึงไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองให้รู้สึกปวดปัสสาวะ แต่แรงดันจากกระเพาะที่เต็มจะสามารถไปทำลายไตได้ นอกจากนี้ ปัสสาวะที่ขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย และอาจลุกลามมาถึงไตได้
- เบาหวานขึ้นตา เป็นผลมาจากหลอดเลือดจอประสาทตาถูกทำลาย ทำให้สายตาพร่ามัว มองเห็นสีผิดปกติ หรือรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
- ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวานซึ่งพบได้น้อยมาก โดยอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยคือปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ สายตาพร่ามัว รวมถึงอัมพาต ในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยอาจสมองบวม หมดสติ หรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะนี้ได้
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
เพื่อป้องกันตัวเองจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ผู้ป่วยเบาหวานควรรีบไปพบคุณหมอ เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองแล้วพบว่า สูงกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก่อนมื้ออาหาร หรือสูงกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังมื้ออาหาร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานอาจสังเกตอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาทิ
- ปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำมาก
- อ่อนเพลีย
- ปากแห้ง
- หายใจเหม็นเปรี้ยว
- หายใจลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป โดยเฉพาะค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงถึง 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือเกินไปกว่านั้น โดยผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติดังนี้
- ฉีดอินซูลิน และรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้ร่างกายสามารถลำเลียงน้ำตาลไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และรักษาค่าน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หรืออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีระดับคีโตนสูง เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้ อาจใช้การออกกำลังเบา ๆ หรือปรึกษาคุณหมอถึงท่าทางการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมแก่ภาวะสุขภาพ เพราะผู้ป่วยเบาหวานควรเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าอยู่นิ่ง ๆ
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม รวมถึงควรบริโภคแป้งต่อวันในปริมาณจำกัดหรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของแคลอรี่ที่จำเป็น ซึ่งปริมาณพลังงานที่แต่ละคนควรได้รับนั้นขึ้นอย่กับอายุ น้ำหนัก ระบบเผาผลาญ และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน แต่โดยปกติ ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิงควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน
- ตรวจระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป หากค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ จะได้รีบดูแลตนเอง หรือพบคุณหมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย