backup og meta

โรคเบาหวาน มีกี่ระยะ แต่ละระยะแตกต่างกันอย่างไร

โรคเบาหวาน มีกี่ระยะ แต่ละระยะแตกต่างกันอย่างไร

โรคเบาหวาน มีกี่ระยะ อาจเป็นคำถามที่ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวานเกิดความสงสัย ทั้งนี้ โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 3-4 ระยะหลัก ๆ โดยนับตั้งแต่เมื่อร่างกายเริ่มมีความผิดปกติซึ่งในขั้นเเรกนี้ระดับน้ำตาลจะยังปกติเเเละยังไม่มีอาการเเสดงใด ๆ จนถึงระยะที่ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงขึ้น จนกระทั่งพบอาการหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจป้องกันได้ด้วยการควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

โรคเบาหวาน คืออะไร

เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต โรคหัวใจ ระบบเส้นประสาทเสียหาย

เบาหวานแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ โดยมีสาเหตุและรายละเอียดดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างภูมิไปทำลายเบตา เซลล์ (Beta Cells) ของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกายจึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ง โดยเบาหวานชนิดที่ 1 นี้มักวินิจฉัยได้ตั้งเเต่ช่วงเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 4-7 ปี และ 10-14 ปี
  • เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากที่สุด หรือประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งหมด เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติหรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีเป็นโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน มีกี่ระยะ

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 สามารถแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

โรคเบาหวานชนิดที่ 1

  • ระยะที่ 1 เบต้าเซลล์ของตับอ่อนเริ่มถูกทำลายจากภูมิหรือแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งในระยะนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะยังปกติ และไม่มีอาการแสดงใด ๆ
  • ระยะที่ 2 เบต้าเซลล์ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตับอ่อนจึงผลิตอินซูลินได้น้อยลงจนทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มบกพร่อง เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะเข้าสู่ภาวะก่อนเบาหวาน เเต่ จะยังไม่อาการแสดงใด ๆ เช่นในระยะเเรก
  • ระยะที่ 3 เบต้าเซลล์ถูกทำลายไปมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ จนทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่โรคเบาหวานในที่สุด รวมถึงอาจเริ่มมีอาการต่าง ๆ ของโรคเบาหวาน เช่น หิวหรือกระหายน้ำมากกว่าปกติ สายตาพร่ามัว อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

  • ระยะที่ 1 ร่างกายยังมีการผลิตอินซูลินจากตับอ่อนได้ตามปกติ แต่เซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อ ไขมัน และตับ ตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป หรือ เริ่มมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในกระเเสเลือดไม่ถูกดึงไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มเพิ่มสูงขึ้นกว่าสภาวะปกติของแต่ละบุคคล เเต่หากเจาะระดับน้ำตาลในเลือดจะยังอยู่ในช่วงปกติอยู่
  • ระยะที่ 2 หรือภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)เป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ยังไม่ถึงสูงถึงเกณฑ์ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ระยะที่ 3 ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนถึงเกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน หรือ สูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ในระยะนี้อาจมีอาการของโรคเบาหวานเริ่มปรากฏ เช่น หิวบ่อย กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย หรืออาจจะยังไม่มีอาการเเสดงใด ๆ ก็ได้
  • ระยะที่ 4 หากผู้ป่วยยังไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลอดเลือดในร่างกายจะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนเเรงตามมาเช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด มือเท้าชาจากเส้นประสาทเสื่อม เท้าเบาหวาน

โรคเบาหวาน ป้องกันได้หรือไม่

ในปัจจุบัน โรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจยังไม่สามารถป้องกันได้ ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้ด้วยการดูเเลสุขภาพตามคำแนะนำเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยุ่ในเกกณฑ์ เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นปัจัยที่ก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนัก และกระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย
  • นอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนน้อยอาจกระตุ้นมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการหลังฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ต้านกับอินซูลินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือควบคุมเบาหวานได้ยากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำและมีเส้นใยสูงเนื่องจากจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างมื้ออาหารมิให้ขึ้นสูงจนเกินไปได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเเละน้ำตาลสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว เฟรนช์ฟรายส์ ผลไม้กระป๋อง รวมถึงขนมหวาน เเละ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่าง ๆ เพราะคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลังรับประทานได้มากกว่าอาหารกลุ่มอื่น ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Type 1 Diabetes?. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/what-is-type-1-diabetes.html#:~:text=Currently%2C%20no%20one%20knows%20how,Getting%20regular%20health%20checkups. Accessed July 21, 2022

Type 1 Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/type-1-diabetes. Accessed July 21, 2022

Preventing Type 2 Diabetes. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-type-2-diabetes#:~:text=You%20can%20help%20prevent%20or,or%20delay%20type%202%20diabetes. Accessed July 21, 2022

Prevent Type 2 Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/prevent-type-2/index.html. Accessed July 21, 2022

How Type 2 Diabetes Progresses. https://www.diabetes.org/diabetes/type-2/how-type-2-diabetes-progresses. Accessed July 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เป็นเบาหวานตอนท้อง ควรทำอย่างไร

อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต และการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา