backup og meta

อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต และการดูแลตัวเอง

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เป็นระยะที่อันตรายที่สุด และอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่เป็นหวาน เช่น ไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ การติดเชื้อรุนแรง หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่รักษาหรือควบคุมอาการเบาหวานให้ดีขึ้น ก็อาจส่งผลให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว จนนำไปสู่อาการโคม่าและถึงแก่ชีวิตได้

    ระยะของเบาหวาน

    ระยะของเบาหวาน แบ่งออกตามประเภทของโรคเบาหวาน ดังนี้

    โรคเบาหวานชนิดที่ 1

    • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าโจมตีเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน อาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ และยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
    • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มมีอินซูลินไม่เพียงพอต่อการจัดการกับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่อาจไม่มีอาการอื่น ๆ แสดงให้เห็น
    • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย เมื่อยล้าอย่างรุนแรง และน้ำหนักลดลงกะทันหัน

    โรคเบาหวานชนิดที่ 2

    • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะดื้ออินซูลิน แต่ยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
    • ระยะที่ 2 เป็นระยะเข้าสู่ภาวะก่อนเบาหวาน โดยอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ประมาณ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจน้ำตาลหลังอดอาหาร และ 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานสารละลายกลูโคส แต่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน
    • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ โดยจะมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสูงกว่า เมื่อตรวจหลังอดอาหาร และ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เมื่อตรวจหลังจากดื่มสารละลายกลูโคสและการตรวจแบบสุ่ม ที่เพิ่มความเสี่ยงนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหากไม่รีบรักษา
    • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ หัวใจล้มเหลว เส้นประสาทบางส่วนถูกทำลาย ส่งผลให้มือและเท้าชา

    เบาหวานระยะสุดท้าย

    หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่า 500-1,000 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เช่น ไตวายเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจเสียหาย บางคนอาจมีอาการชักและหมดสติ หรือเสียชีวิต

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต อาจสังเกตได้ดังนี้

    • รู้สึกกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อยขึ้น

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต อาจมีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าเบาหวานในระยะแรก ซึ่งเกิดจากน้ำตาลส่วนเกินสะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป ทำให้ไตทำงานมากขึ้นเพื่อขับน้ำตาลส่วนเกินออกผ่านทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายขาดน้ำและกระหายน้ำมาก

    • เหนื่อยล้า

    อาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียมาก เป็นหนึ่งในอาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายขาดพลังงานเพราะไม่สามารถดึงน้ำตาลในเลือดมาใช้เป็นพลังงานได้เพียงพอ อีกทั้งยังอาจมีอาการขาดน้ำ จึงส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

    • น้ำหนักลดลง

    อาการเบาหวานระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิตอาจทำให้ร่างกายขาดพลังงานเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้มาเป็นพลังงานแทน ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง

    • มองเห็นภาพซ้อน

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจเกิดการดึงของเหลวออกจากเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงน้ำในเนื้อเยื่อของดวงตา ส่งผลให้การโฟกัสของดวงตาแย่ลงและมองเห็นภาพซ้อน หรือสายตาพร่ามัว หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้หลอดเลือดรอบดวงตาเสียหาย นำไปสู่ภาวะต้อกระจก ต้อหิน และอาจสูญเสียการมองเห็นได้

    • มือเท้าชา

    เส้นประสาทอาจถูกทำลายเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการมือเท้าชา รู้สึกเสียว ปวดแสบปวดร้อนที่แขนและขา หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

    • แผลหายช้าและติดเชื้อบ่อย

    ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดไม่ดี จึงอาจส่งผลให้แผลในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหายช้า นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอด หรือเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

    • ไตวาย

    เนื่องจากไตมีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากเลือด หากไตได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ โดยอาจสังเกตได้จากแขนและขาบวมน้ำ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาเจียน หายใจหอบ เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฟอกไต หรือปลูกถ่ายไต

    การดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับอาการเบาหวานระยะสุดท้าย

    การดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับอาการเบาหวานระยะสุดท้าย มีดังนี้

    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอและเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดทุกครั้ง
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น การรับประทานยารักษาเบาหวาน ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ฉีดอินซูลิน
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้อาการเบาหวานระยะสุดท้ายแย่ลง
    • ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการหลั่งอินซูลินมาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยบรรเทาภาวะดื้ออินซูลินได้
    • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหยุดสูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา