โรคเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นเวลานาน จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน อาการแสดง ของผู้ป่วย อาจสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำบ่อย ถ่ายปัสสาวะมากกว่าปกติ หิวบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมากนัก หรื่อเป็นช่วงระยะเริ่มต้นของเบาหวานก็อาจจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้สังเกต ดังนั้น หากพบว่ามีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1
- ออโตแอนติบอดี (Autoantibodies) เป็นภูมิที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเเล้วไปทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกาย มีภูมิบางชนิดที่หากผู้ใดมีภูมิชนิดดังกล่าว ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
- พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ท้องเดียวกันเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้ได้
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2
- มีภาวะก่อนเบาหวานหรือเบาหวานแฝง (Prediabetes) ซึ่งเป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าปกติแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเป็นเบาหวาน
- น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- อายุ 35 ปีขึ้นไป ดังนั้น จึงเเนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตั้งเเต่ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม พบว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ พันธุกรรมนั้นนับเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเช่นกัน (มากกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1) ดังนั้น ผู้ที่มีคนในครอบครัวโรคเบาหวาน อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ เเละ ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดทารกที่น้ำหนักตัวเยอะหรือเกิน 4 กิโลกรัม
- ไม่ค่อยขยับร่างกาย ชอบนั่งอยู่กับที่นาน ๆ เป็นประจำ
- เป็นโรคไขมันพอกตับ (Fatty liver)
โรคเบาหวาน อาการแสดง มีอะไรบ้าง
อาการแสดงของโรคเบาหวาน อาจแบ่งได้ดังนี้
อาการแสดงของเบาหวานชนิดที่ 1
อาการแสดงของโรคเบาหวานเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ซึ่งในกรณีของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน โดยอาจมีอาการได้ดังนี้
- ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย
- ปวดท้อง คลื่นไส้/อาเจียน
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืน
- หิวบ่อย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่รับประทานตามปกติ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อาการแสดงของเบาหวานชนิดที่ 2
อาการแสดงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจเริ่มมีอาการ หลักเดือน ถึง หลักปี ต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1ดังนั้นสัญญาณเตือนหรืออาการแสดงของโรคนี้อาจไม่ชัดเจน หรือ อาจไม่มีอาการใด ๆ ในช่วงระยะเริ่มต้นที่ระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมากนัก
อาการแสดงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่พบได้ จะคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่อาการจะค่อยเป็นค่อยไป เเละหากผู้ป่วยยังมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงนัก ก็มักจะยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- รู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกคันบริเวณช่องคลอดหรือองคชาต หรือติดเชื้อราซ้ำบ่อยครั้ง
- บาดแผลหายช้า
- สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน
การรับประทานอาหารและปรับพฤติกรรมสุขภาพดังต่อไปนี้ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่อาจตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน
- รับประทานผัก โดยเน้นผักที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น มะเขือเทศ พริกหวาน กะหล่ำปลี คะน้า บรอกโคลี เป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ
- ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ของทอด ขนมหวาน ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ๆ
- จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล ชาไข่มุก เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน เป็นโรคที่หากควบคุมได้ไม่ดี จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนได้กับหลาย ๆ ระบบในร่างกาย ดังนั้น หากเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีการติดเชื้อ ควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้อาการลุกลามจนรักษาได้ยาก