โรคเบาหวาน เกิดจาก เซลล์ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง หรือผลิตอินซูลินลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เเละนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน เกิดจาก อะไร
โรคเบาหวาน เกิดจาก ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ลดลง หรือ ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินนี้เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด โดยทั่วไป หลังจากรับประทานอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลกลูโคสและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นฮอร์โมนอินซูลินจะทำหน้าควบคุมในเซลล์ต่างๆ นำนำตาลไปใช้เผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน เป็นการรักษาสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากร่างกายมีอินซูลินลดลง หรือ เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และหากเกิดภาวะนี้อย่างเรื้อรัง จะนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากสูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไปจะเข้าเกณฑ์หนึ่งในการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
ตั้งเเต่วัยเด็กเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิไปทำลายเบต้าเซลล์ (Beta cells) ในตับอ่อนซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างอินซูลิน จึงทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลง ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทดเเทน เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม
เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากกว่า 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้มักพบในผู้ที่มีรูปร่างอ้วน จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงที่เป็นเบาหวาน ได้มากกว่า ผู้ที่มีรูปร่างผอม หรือ รูปร่างปกติ การรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาลดระดับน้ำตาลร่วมกับ การควบคุมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพเท้า
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน มีดังต่อไปนี้
เบาหวานชนิดที่ 1
เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม พันธุกรรมจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง
- คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หากสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่/น้องท้องเดียวกัน เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้ได้
- ออโตแอนติบอดี (Autoantibodies) เป็นภูมิที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเเล้วไปทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกาย มีภูมิบางชนิดที่หากผู้ใดมีภูมิชนิดดังกล่าว ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
เบาหวานชนิดที่ 2
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นกว่าคนที่อายุน้อย ดังนั้น จึงเเนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตั้งเเต่อายุ 35 ปีขึ้นไป
- โรคอ้วน ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้มากกว่า จึงส่งผลมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นด้วย
- คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน พบว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ พันธุกรรมนั้นนับเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง (มากกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1) ดังนั้น ผู้ที่มีคนในครอบครัวโรคเบาหวาน อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ เเละ ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ภาวะสุขภาพหรือโรคร่วม ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคกลุ่มถุงน้ำรังไข่
- ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกิน (Binge eating disorder) อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนทั่วไป
โรคเบาหวานป้องกันได้หรือไม่
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วยการดูแลสุขภาพ ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง
- เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่ดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช เนื่องจากมีไฟเบอร์สูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารและยังอยู่ท้องจึงทำให้ให้อิ่มนาน เช่น คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ มะละกอ ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ถั่ว ขนมปังโฮลวีท
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและแคลอรี่สูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ของทอด ขนมเบเกอร์รี่ อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แคบหมู กุนเชียง เบคอน
ออกกำลังกายและขยับร่างกายอยู่เสมอ
- เน้นการขยับกล้ามเนื้อทุกส่วน ทั้งขา สะโพก หลัง หน้าท้อง หน้าอก ไหล่ และแขน หากเลือกออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน เต้นรำ แอโรบิกควรออกอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที และหากออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง ควรออกอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น และอาจป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
- หมั่นขยับร่างกายเป็นประจำ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ ไม่นั่งทำงานหรือนั่งดูโทรทัศน์อยู่กับที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง