backup og meta

เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา

เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา

เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ อีกทั้งภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์อินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

เบาหวานชนิดที่ 2 คืออะไร

เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด มักมีสาเหตุเบื้องต้นมากจากร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินนี้เป็นฮอร์โมนหลักที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม เเม้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแล้ว ระดับน้ำตาลยังสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย

เบาหวานชนิดที่ 2 พบได้บ่อยได้แค่ไหน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่ในปัจจุบันนี้ พบว่าเด็กมีภาวะโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 จึงทำให้พบว่ามีจำนวนเด็กที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การดูแลสุขภาพให้ดี มีการปรับพฤตกรรมสุขภาพที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

อาการ

อาการของเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานมานานหลายปีโดยไม่รู้ตัว โดยอาการของโรคเบาหวานที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • กระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อย เนื่องจากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะพยามขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น สมองจึงกระตุ้นให้เกิดอาการกระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นทดเเทนส่วนที่สูญเสียไป
  • หิวบ่อยขึ้น เนื่องจากเมื่ออินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้การเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานของเซลล์ต่าง ๆ บกพร่องไป ทำให้ร่างกายขาดพลังงานและทำให้รู้สึกหิวบ่อย
  • น้ำหนักลดลง แม้จะหิวบ่อยจนรับประทานมากขึ้น แต่น้ำหนักก็อาจลดลง เพราะร่างกายเผาผลาญน้ำตาล หรือ กลูโคส (Glucose) มาใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงต้องใช้หันไปสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อเยื่อไขมันแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง
  • อ่อนเพลีย หากเซลล์ขาดพลังงาน อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และหงุดหงิดง่าย
  • มองเห็นไม่ชัดเจน เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จะส่งผลต่อความเข้มข้นของน้ำในเลนส์ตา จึงทำให้มองภาพไม่คมชัดได้
  • แผลหายช้าหรือติดเชื้อบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ผื่นสีคล้ำ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจมีผื่นหนาสีคล้ำ หรือหนังด้านขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลังคอและรักแร้ ซึ่งเป็นผื่นที่บ่งบอกถึง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

สาเหตุ

สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักมากขึ่นเรื่อย ๆ เพื่อผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้นมาทดเเทน จนในที่สุดตับอ่อนล้าเเละเสื่อมสภาพจึงผลิตอินซูลินได้ลดลง ไม่เพียงพอที่จะควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ น้ำตาลในกระแสเลือดจึงเพิ่มสูงขึ้น และเกิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลายประการ เช่น

  • น้ำหนักเกิน ภาวะน้ำหนักเกินเเละโรคอ้วนนับเป็นปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการที่ร่างกายยิ่งมีเนื้อเยื่อไขมันมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นเท่านั้น
  • ภาวะอ้วนลงพุง การกระจายตัวของไขมันมีส่วนส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยหากมีไขมันสะสมในช่องท้องมาก หรือ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่ามีไขมันสะสมที่บริเวณอื่น ๆ เช่น สะโพก ต้นขา
  • การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) การที่ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเท่าไร ก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นเท่านั้น เนื่องมาจากร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน จึงมีการสะสมพลังงานส่วนเกิน ในรูปของไขมันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเเนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะส่งผลช่วยควบคุมน้ำหนัก กระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงาน และทำให้เซลล์ตอบสนองต่อต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
  • ประวัติครอบครัว ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 พบเพิ่มขึ้น หากมีญาติสายตรงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • อายุ ความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 45 ปี เนื่องจากคนวัยนี้อาจเริ่มมีกิจกรรมที่ต้องใช้เเรง หรือ ออกกำลังกายน้อยลง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน อัตราการเกิดโรคเบาหวานในเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวก็พบมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลด้านล่างเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในเเง่ของการวินิจฉัยเเละการรักษาโรคเบาหวาน เเนะนำให้ปรึกษาหรือสอบถามคุณหมอหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2

เมื่อสงสัยหรือต้องกายตรวจว่าผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่ คุณหมอจะทำการการตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัย ซึ่งมีวิธีการตรวจหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • การตรวจระดับฮีโมโกลบิน A1C เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (Glycosylated Hemoglobin Test) การตรวจนี้เป็นการตรวจที่บ่งชี้ถึงระดับกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การตรวจฮีโมโกลบิน A1c จะทำการตรวจเลือดโดยที่ผู้เข้ารับการตทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารมาก่อน
  • การตรวจระดับกลูโคสในเลือด การตรวจวิธีนี้ ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดปริมาณระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
  • การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล เป็นการตรวจที่บอกถึงความสามารถในการจัดการกับน้ำตาลของร่างกาย โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอกอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้น คุณหมอจะเจาะเลือด ครั้งเเรก เเล้วจึงจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสในปริมาณที่กำหนด หลังจากนั้น รอจนครบระยะวลา 2 ชั่วโมง เเล้วจึงเจาะเลือดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจว่าร่างกายจัดการกับน้ำตาลกลูโคสก่อนและหลังดื่มได้ดีเพียงใด

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 เป้าหมายหลัก คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาสม โดยเบื้องต้นเเล้ว เเนะนำให้เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในการดำเนินชีวิต เพิ่มการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และจัดการความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น เเต่อย่างไรก็ตามในบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งวิธีการรักษาเบาหวานอาจทำได้ดังนี้

  • การลดน้ำหนัก

พบว่าเมื่อน้ำหนักตัวลดลง จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเเนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วนร่วมด้วย ควรลดน้ำหนักลงให้ได้อย่างน้อย 7 – 10 % ของน้ำหนักตัว เช่น หากน้ำหนัก 82 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนัก 5.9 – 8.2 กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เเนะนำให้รับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงลดลง เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้มากขึ้น รวมถึงการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น ถือเป็นเคล็ดลับของการรับประทานอาหารที่ดีในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ทั้งนี้ อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักโภชนาการ ถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตนเองมากที่สุด

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายที่ระดับความเหนื่อยปานกลางเป็นประจำ คือ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจเเบ่งเป็นครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ หรือหากออกกำลังกายในระดับเหนื่อยสูง อาจลดระยะเวลารวมคือ อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อาจช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ร่างกายเเข็งแรงโดยรวมซึ่งช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน การเต้น การว่ายน้ำ เเละอาจทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance Exercise) เช่น การยกน้ำหนัก โยคะ สัปดาห์ละ 2 วัน

  • การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเอง

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเอง จะช่วยให้ผูป่วยทราบถึงระดับน้ำตาลที่เเท้จริงของตนในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรบพฤติกรรมาสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้อินซูลิน นอกจากนี้ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

  • การใช้ยาเบาหวาน หรือการฉีดอินซูลิน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาล หรือยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างๆที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน หรือ ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น เพื่อนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น หรือออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงผ่านกลไกที่ไต ให้เพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ที่เป็นเบาหวานเเต่ละราย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเบาหวานชนิดที่ 2

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองตามเคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างเหมาะสม

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง อาทิเช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และธัญพืชเต็มเมล็ดให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เเนะนำให้ออกกำลังกายในความเหนื่อยระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หากออกกำลังกายในระดับความเหนื่อยสูง เเนะนำให้ออกกำลังกาย อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์
  • ตรวจวัดระดับของน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงระดับน้ำตาลของตนเอง ในชีวิตประจำวัน โดยอาจทำการตรวจน้ำตาลในเลือด ในช่วงก่อนเเละหลังอาหาร ก่อนเเละหลังออกกำลังกาย หรือช่วงที่อาจมีอาการที่เข้าข่ายภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้ หากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย เเนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองเป็นระยะ เเละไปพบคุณหมอ หากระดับน้ำตาลสูง/ต่ำผิดปกติ หรือ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2  วัน
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี มีค่าดัชนีมวลกาย 18.5 – 22.9
  • ตรวจสุขภาพเท้าทุกวัน หากพบความผิดปกติใด ๆ เช่นมีแผลเรื้อรัง หรือ เท้าชา ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำเเละไปพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes mellitus type 2. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/home/ovc-20169860. Accessed January 5, 2017.

Diabetes mellitus type 2. http://www.webmd.com/diabetes/type-2-diabetes-guide/type-2-diabetes#2-3. Accessed January 5, 2017.

Diabetes Mellitus Type 2.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK513253/.Accessed January 5, 2017.

Type 2 Diabetes Mellitus.https://emedicine.medscape.com/article/117853-overview.Accessed June 15, 2021

Diabetes mellitus type 2 (non-insulin dependent, mature age onset).https://healthengine.com.au/info/diabetes-mellitus-type-2-non-insulin-dependent-mature-age-onset.Accessed June 15, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรกินและควรหลีกเลี่ยงประเภทใดบ้าง

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา