backup og meta

การทำหมันชาย ขั้นตอน การเตรียมตัว ความเสี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    การทำหมันชาย ขั้นตอน การเตรียมตัว ความเสี่ยง

    การทำหมันชาย คือการคุมกำเนิดแบบถาวรในผู้ชาย โดยการตัดหรือผูกท่อนำอสุจิไว้ เพื่อไม่ให้อสุจิซึ่งโตเต็มที่แล้วเข้าไปอยู่ในน้ำอสุจิ และป้องกันตัวอสุจิไปผสมกับไข่ในร่างกายผู้หญิงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ การทำหมันชายมีโอกาสสำเร็จประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพต่ำ กรณีที่อยากมีลูกหลังทำหมันแล้ว อาจสามารถแก้หมันได้ แต่โอกาสแก้หมันสำเร็จจะลดน้อยลงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ดังนั้น ก่อนทำหมันชาย จึงควรตัดสินใจให้ถี่ถ้วนและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำหมัน หรือหากไม่อยากแก้หมันก็สามารถทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) โดยการเจาะหาตัวอสุจิโดยตรงจากบรีเวณอัณฑะได้ (Surgical sperm retrieval)

    การทำหมันชาย คืออะไร

    การทำหมันชาย คือ การผ่าตัดปิดกั้นท่อนำอสุจิ เพื่อไม่ให้ตัวอสุจิอยู่ในน้ำเชื้อเมื่อหลั่งขณะมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงจนทำให้เกิดการตั้งครรภ์

    การทำหมันชาย เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร เหมาะกับผู้ชายที่ไม่อยากมีลูก หรือมีลูกเพียงพอแล้ว กรณีหลังทำหมันแล้วต้องการมีลูก อาจเข้ารับการผ่าตัดแก้หมันได้ แต่โอกาสสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการดังนั้น ก่อนทำหมันชาย จึงควรตัดสินใจให้รอบคอบ

    ขั้นตอน การทำหมันชาย

    การทำหมันชายประเภทผ่าตัดด้วยมีด โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยคุณหมอจะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

    • ฉีดยาชาบริเวณถุงอัณฑะ
    • ใช้มีดผ่าตัดผ่าด้านบนของถุงอัณฑะ หรือใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะเจาะบริเวณดังกล่าว
    • คุณหมอจะมองหาตำแหน่งของท่อนำอสุจิ
    • เมื่อพบท่อนำอสุจิแล้ว คุณหมอจะตัดท่ออสุจิทั้ง 2 ข้าง แล้วปิดท่อด้วยการใช้ความร้อนผูกท่อไว้ หรือหนีบด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์
    • จากนั้น คุณหมอจะเย็บปิดแผลบริเวณถุงอัณฑะ

    ในกรณีทำหมันด้วยเครื่องมือเฉพาะ หรือที่เรียกว่า “การทำหมันเจาะ” มีขั้นตอนที่คล้ายกับการทำหมันด้วยการผ่า แต่ในขั้นตอนสุดท้ายคุณหมอจะไม่เย็บปิดแผล เนื่องจากการทำหมันเจาะ ซึ่งใช้เครื่องมือแพทย์แบบเฉพาะนั้นทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก ซึ่งบาดแผลจะสมานเอง

    การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย

    ผู้ที่ต้องการทำหมันชาย ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการผ่าตัดในประเด็นต่อไปนี้

    • ข้อดีและข้อเสียของการทำหมัน เพื่อเปรียบเทียบสำหรับการตัดสินใจครั้งสุดท้าย
    • โอกาสแก้หมันสำเร็จ ในกรณีอยากมีลูกหลังจากทำหมันแล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ โรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพ คุณภาพอสุจิ รวมถึงความพร้อมในการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง
    • ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทำหมัน หากเคยผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะมาก่อน

    ทั้งนี้ หากตัดสินใจแล้วว่าต้องการทำหมัน คุณหมอจะนัดวันผ่าตัด และอาจแนะนำคนไข้ให้ปฏิบัติตัวดังนี้

    • งดยาบางประเภท เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด โดยยาดังกล่าวประกอบด้วยแอสไพริน ซึ่งหากรับประทานยาชนิดนี้ก่อนผ่าตัด อาจทำให้คนไข้เสียเลือดในปริมาณมากกว่าปกติขณะผ่าตัด
    • โกนขนบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อให้คุณหมอผ่าตัดได้สะดวกขึ้น
    • สวมชั้นในออกกำลังกาย หรือชั้นในที่แนบเนื้อมาในวันทำหมัน เพื่อลดการกระทบกระเทือนของแผลผ่าตัดหลังทำหมันเสร็จแล้ว และชุดชั้นในจะช่วยประคองถุงอัณฑะที่อาจปวดหรือบวมหลังการผ่าตัด

    การดูแลตัวเองหลังการทำหมันชาย

    ผู้ชายที่เข้ารับการทำหมันแล้ว หลังจากผ่าตัดทำหมันเรียบร้อย ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

    • รับประทานยาแก้ปวด เพื่อลดอาการบวมหรือปวดของอัณฑะหลังหลังจากทำหมัน
    • ประคบเย็นบริเวณถุงอัณฑะ เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบจากการผ่าตัด
    • งดกิจกรรมซึ่งทำให้บาดแผลกระทบกระเทือน เช่น การเล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์
    • งดยกของหนัก เป็นเวลา 7 วันหลังจากการผ่าตัดทำหมันชาย ทั้งนี้สามารถทำงานหรือยกของเบา ๆ ได้ ตั้งแต่ 1-2 วันแรก แต่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่จำเป็นจริง ๆ
    • สวมชั้นในออกกำลังกาย หรือชั้นในที่กระชับ เพื่อช่วยประคองถุงอัณฑะที่ปวดบวมไม่ให้กระเทือนมากจนเกินไป
    • เลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 7 วันหลังจากการทำหมันชาย และคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากยังอาจมีตัวอสุจิตกค้างได้หลังจากทำหมันชายแล้ว

    เมื่อไรจึงทราบว่าการทำหมันชายสำเร็จ

    การทำหมันชาย จะไม่ได้ผลทันที เพราะหลังจากทำหมันแล้ว อสุจิจะยังคงหลงเหลืออยู่ในร่างกาย และอาจต้องหลั่งน้ำอสุจิราว 15-20 ครั้ง เพื่อให้ตัวอสุจิซึ่งอาจค้างอยู่บริเวณท่อนำอสุจิหมดไป โดยระหว่างนี้ คุณหมอจะแนะนำให้คนไข้มีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

    ทั้งนี้ ชายซึ่งทำหมันแล้วจะทราบว่าทำหมันสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจจำนวนตัวอสุจิ โดยคุณหมอมักนัดตรวจหลังการผ่าตัดผ่านไปแล้ว 1-3 เดือน

    ในการตรวจจำนวนอสุจิ คุณหมอจะให้คนไข้หลั่งน้ำเชื้อเพื่อดูว่ายังมีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่ไหม ในกรณีไม่พบตัวอสุจิเลย แสดงว่าการทำหมันชายสำเร็จ

    หากพบตัวอสุจิ คุณหมอจะนัดให้เข้ามาตรวจอีกครั้ง หรือขอตรวจเพิ่ม หากสงสัยว่าหลอดนำอสุจิของคนไข้กลับมาต่อกันเอง ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก นอกจากนั้นแล้ว คนไข้ควรกลับมาตรวจหมันทุก ๆ 1 ปี เพื่อตรวจสอบว่าหมันไม่หลุด

    ข้อดีและข้อเสียของการทำหมันชาย

    ข้อดีและข้อเสียของการทำหมันชาย มีดังนี้

    ข้อดีของการทำหมันชาย

    • โอกาสสำเร็จสูง หรือราว 99 เปอร์เซ็นต์
    • ไม่มีผลต่อความต้องการทางเพศหรือระดับฮอร์โมนเพศชาย
    • ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
    • ทำได้ง่ายกว่าการทำหมันหญิง

    ข้อเสียของการทำหมันชาย

    • อาจทำให้ขาดความระมัดระวังในการมีเพศสัมพันธ์ เพราะคิดว่าทำหมันแล้วไม่สามารถทำให้ฝ่ายหญิงท้องได้ จนอาจไม่สนใจสวมถุงยางอนามัย แต่ลืมไปว่า การทำหมันไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ควรสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งโดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
    • การผ่าตัดในสภาวะที่ร่างกายไม่พร้อมเต็มที่ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ อาทิ อัณฑะบวมหรืออักเสบ มีเลือดปนในน้ำอสุจิ การติดเชื้อและความเจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด

    ทำหมันชายแล้วอยากมีลูก ทำอย่างไรดี

    ผู้ชายที่ผ่านการทำหมันแล้ว หากต้องการกลับไปมีลูก สามารถมีลูกได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • แก้หมัน หรือการผ่าตัดเชื่อมต่อท่อนำอสุจิ เพื่อให้ตัวอสุจิสามารถเข้าไปอยู่ในน้ำเชื้อและเมื่อหลั่งเข้าไปในช่องคลอดก็สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ และทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยอัตราสำเร็จของการแก้หมันชายจะค่อนข้างน้อย หรือมีโอกาสสำเร็จราว 30-75 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างการแก้หมันและทำหมัน รวมทั้งสุขภาพทางเพศของฝ่ายชาย และความพร้อมในการตั้งครรภ์หรือวัยของฝ่ายหญิงด้วย
    • การทำเด็กหลอดแก้ว คือ การปฏิสนธิไข่และตัวอสุจิในห้องปฏิบัติการ ก่อนย้ายตัวอ่อนไปฝังในผนังมดลูกของฝ่ายหญิงให้เจริญเติบโตต่อไป โดยในกระบวนการนี้ หากฝ่ายชายทำหมันแล้วคุณหมอสามารถเจาะอัณฑะเพื่อดูดตัวอสุจิออกมาผสมกับไข่ได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วอาจมีประมาณ 40-70% ขึ้นอยู่กับวัยและสุขภาพของฝ่ายหญิงเป็นหลัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา