backup og meta

โรคผิวหนัง ที่เกิดจาก เชื้อรา มีอะไรบ้าง และรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/08/2023

    โรคผิวหนัง ที่เกิดจาก เชื้อรา มีอะไรบ้าง และรักษาอย่างไร

    โรคผิวหนัง ที่เกิดจากเชื้อรา อาจเกิดขึ้นเมื่อ เชื้อรา มีการเจริญเติบโตบนผิวหนังมากเกินไป ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น สภาพอากาศร้อนชื้น ผิวมัน การสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อรา การใช้สิ่งของร่วมกัน นำไปสู่โรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน ซึ่งอาจสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา และการดูแลผิวอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพผิวที่ดี

    โรคผิวหนัง ที่เกิดจาก เชื้อรา มีอะไรบ้าง

    โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา มีดังต่อไปนี้

    1. โรคกลาก

    กลาก คือโรคผิวหนังเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่อาศัยอยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอก สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน สัตว์สู่คน และจากสิ่งของสู่คน ผ่านการสัมผัสกับเชื้อ สามารถเกิดได้ทั่วทั้งร่างกายไม่ว่าจะเป็นลำตัว แขน ขา หนังศีรษะ โดยสังเกตจากอาการผื่นรูปวงแหวนมีสะเก็ดโดยรอบ อาการคัน ตุ่มขึ้น สำหรับกลากบนหนังศีรษะอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม หนังศีรษะเป็นสะเก็ด หากอาการเหล่านี้แย่ลง หรือเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรเข้ารับการรักษาในทันที

    วิธีรักษาโรคกลาก คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบเจล ครีม โลชั่น แชมพู หรือยารับประทาน เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เพื่อฆ่าเชื้อราที่อยู่บนผิวหนัง และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา

    2. โรคเกลื้อน

    เกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่เจริญเติบโตมากเกินไป จนส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง สังเกตได้จากรอยด่างบนผิวหนัง อาการคัน ผิวตกสะเก็ด หากสังเกตว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยารักษา หรือมีรอยด่างที่ขยายใหญ่กว่าเดิม ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที

    วิธีรักษาโรคเกลื้อน

    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบครีม หรือเจล ใช้รักษาเกลื้อน ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรักษาการติดเชื้อรา และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) เป็นยาในรูปแบบโลชั่น ยานี้อาจช่วยบรรเทาอาการคัน และชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • ยาต้านเชื้อรารูปแบบรับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เพื่อการหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา

    3. โรคสังคัง

    โรคสังคังเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราบนผิวหนังที่เจริญเติบโตมากเกินไป หรือการติดเชื้อราจากผู้อื่นผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง มีผื่นแดง ผิวหนังเป็นสะเก็ด พบได้มากในบริเวณรอยพับของขาหนีบ ต้นขา

    วิธีรักษาโรคสังคัง สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม เจล หรือสเปรย์ และการดูแลสุขอนามัยด้วยการไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น สวมเสื้อผ้าที่สะอาดระบายอากาศและเหงื่อได้ดี ป้องกันความชื้นที่อาจกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโต

    4. โรคผิวหนังติดเชื้อราแคนดิดา (Candida)

    โรคติดเชื้อราแคนดิดา เกิดจากเชื้อราแคนดิดาที่อาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอก ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น หนังศีรษะ เล็บ ในช่องปาก ช่องคลอด นำไปสู่การเกิดผื่นแดง ตกสะเก็ด อาการคัน แสบร้อนผิวหนังในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

    วิธีรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อราแคนดิดา

    • ไมโคนาโซล (Miconazole) คือยาในรูปแบบทาบนผิวหนังเฉพาะที่ มีการออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง
    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาในรูปแบบครีม ที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาบริเวณที่มีอาการวันละ 1-2 ครั้ง

    5. โรคน้ำกัดเท้า

    เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เหมือนโรคกลาก โดยมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น และการสะสมของเหงื่อ ที่กระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโต พบได้บ่อยในบริเวณเท้า ซอกนิ้วเท้า ทำให้ผิวหนังเป็นสะเก็ด ผิวแตกแดง อาการคัน อาการอักเสบ แผลพุพอง แสบผิว โรคน้ำกัดเท้าอาจติดต่อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่เปียก เช่น บริเวณที่มีน้ำขัง พื้นห้องน้ำ และการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ถุงเท้า รองเท้า ผ้าขนหนู พรมเช็ดเท้า

    วิธีรักษาโรคน้ำกัดเท้า

    คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยยาต้านเชื้อยารูปแบบครีมทาบริเวณที่ผลกระทบ เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) อีโคนาโซล (Econazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทายาบนผิวที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้งจนกว่าผื่นจะหาย และอาจต่อเนื่องเป็นเวลา 2- 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอาการติดเชื้อรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อยาในรูปแบบรับประทานเช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) อิทราโคนาโซล (Itraconazole) หรืออาจให้ใช้ควบคู่กับยารูปแบบทาเฉพาะที่

    วิธีป้องกันโรคผิวหนังจากเชื้อรา

    วิธีป้องกันโรคผิวหนังจากเชื้อรา สามารถทำได้ดังนี้

  • รักษาสุขอนามัยด้วยการสระผม อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดตั้งแต่ศีรษะ จนถึงเท้า โดยเฉพาะหลังทำกิจกรรมที่มีเหงื่อมาก และควรเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำป้องกันการอับชื้น
  • ตัดเล็บเท้าและเล็บมือให้สั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราสะสมในเล็บ และป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
  • ไม่ควรใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า รองเท้า ร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่นมากเกินไป เพื่อช่วยลดการขับเหงื่อจากอากาศร้อนและเพื่อช่วยให้เหงื่อระบายออกได้ดียิ่งขึ้น
  • สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีเท้า และสามารถระบายอากาศได้ดี
  • เปลี่ยนถุงเท้าเป็นประจำป้องกันการสะสมของเหงื่อที่อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อรา
  • ใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ เช่น สระน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา