backup og meta

อั้นอุจจาระบ่อย ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค ขี้เต็มท้อง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 19/05/2023

    อั้นอุจจาระบ่อย ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค ขี้เต็มท้อง

    โรค ขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตัน เป็นโรคที่เกิดจากการอุดตันของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ จนทำให้ไม่สามารถถ่ายอุจจารได้ตามปกติ อาจทำให้ถ่ายอุจจาระได้น้อยลง ขับถ่ายไม่ปกติ อ่อนเพลีย แน่นท้อง วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร เป็นต้น โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่อั้นอุจจาระเมื่อจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ โรคนี้ไม่สามารถหายได้เอง จึงควรไปพบคุณหมอหากสังเกตว่ามีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาการอาจรุนแรงและเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

    โรค ขี้เต็มท้อง คืออะไร

    โรคขี้เต็มท้อง (Fecal impaction) เป็นโรคที่มีอุจจาระในลำไส้ใหญ่มากเกินไป ซึ่งเกิดจากลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่ลำไส้ใหญ่อุดตันและ กลุ่มที่มีอาการท้องผูก โดยอุจจาระมักมีลักษณะแข็งและแห้งจนไม่สามารถเคลื่อนตัวและขับถ่ายได้ตามปกติ ส่งผลให้อุจจาระสะสมภายในลำไส้ และอาจเกาะอยู่ภายในผนังลำไส้ และกดทับเส้นเลือดในกระเพาะ หรือลามไปถึงกระดูกสันหลัง

    ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ลำไส้ทำงานช้าลง นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ในเด็กเล็กที่กินนมแล้วนอนเลย ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายและอยู่เฉย ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ที่ผ่าตัดบ่อยครั้ง ผู้ที่มีลำไส้ยาว ผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวชอย่างโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

    ขี้เต็มท้อง เกิดจากอะไร

    โดยทั่วไป โรคนี้มีสาเหตุหลัก ๆ ต่อไปนี้

    • อาการท้องผูก โรคขี้เต็มท้องอาจเกิดจากอาการท้องผูกและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
    • ยาระบาย การใช้ยาระบายบ่อยเกินไปอาจทำให้ระบบขับถ่ายไม่ตอบสนองต่อสัญญาณที่ร่างกายส่งให้เมื่อถึงเวลาต้องขับถ่าย ส่งผลให้อุจจาระสะสมในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก
    • ยารักษาโรคอื่น ๆ เช่น ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid drugs) ที่ใช้บรรเทาอาการปวด หากรับประทานบ่อยอาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงให้อุจจาระสะสมในลำไส้
    • พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่อยู่เฉย ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ พนักงานออฟฟิศ อาจเสี่ยงเกิดอาการท้องผูกและเป็นโรคขี้เต็มท้องได้มากกว่าคนที่ขยับร่างกายบ่อย ๆ ในเวลากลางวัน
    • พฤติกรรมการขับถ่าย ผู้ที่อั้นอุจจาระเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคขี้เต็มท้องได้มากกว่าผู้ที่ขับถ่ายเป็นเวลาและไม่อั้นอุจจาระเมื่อปวด

    อาการ ขี้เต็มท้อง

    อาการขี้เต็มท้อง ที่พบได้บ่อย มักมีดังนี้

    • ปวดท้องเหมือนอิ่ม แน่นท้อง
    • ท้องอืด ท้องบวม
    • มีเลือดปนในอุจจาระ
    • ถ่ายอุจจาระเป็นก้อนขนาดเล็ก
    • จำเป็นต้องเบ่งหรือเกร็งเมื่อถ่ายอุจจาระ
    • ปวดอุจจาระแต่ไม่สามารถถ่ายออกมาได้
    • ในผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำหรือมีของเหลวอื่นรั่วไหลเมื่อขับถ่าย
    • ปวดกล้ามเนื้อไหล่ ปวดหลัง ปวดขา
    • ไม่อยากอาหาร
    • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
    • อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

    การรักษาโรคขี้เต็มท้อง

    วิธีรักษาโรคขี้เต็มท้อง มีดังนี้

    • การสวนล้างอุจจาระ เป็นวิธีรักษานิยมใช้มากที่สุด คุณหมอจะปล่อยของเหลวเข้าไปทางทวารหนักเพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลงและช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ส่วนใหญ่แล้วเมื่อสวนล้างมักถ่ายอุจจาระที่อัดแน่นอยู่ออกมาได้เอง แต่หากการสวนล้างอุจจาระไม่ได้ผล คุณหมออาจต้องสอดมือเข้าไปเพื่อช่วยแบ่งอุจจาระที่อุดกั้นอยู่ภายในออกมาเป็นส่วน ๆ
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้การชีวิตประจำวัน คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อสุขภาพลำไส้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ขยับร่างกายมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง รับประทานอาหารเสริมไฟเบอร์ ซึ่งจะช่วยให้ขับถ่ายได้ตามปกติ
    • การผ่าตัด หากมีอาการรุนแรง คุณหมอจะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการเลือดออกจากการฉีกขาดของลำไส้

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคขี้เต็มท้อง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคขี้เต็มท้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูงเป็นประจำ เช่น ผักและพืชตระกูลถั่วอย่างปวยเล้ง ใบเหลียง กระเฉด ขนุนอ่อน โหระพา อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้อย่างแอปเปิล ส้ม เสาวรส อะโวคาโด ฝรั่ง ทับทิม ธัญพืชอย่างซีเรียลโฮลเกรน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง
    • คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ที่มีอาการท้องผูก รับประทานอาหารเสริมหรือยาระบายอ่อน ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มลงและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคขี้เต็มท้อง
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เล่นแบดมินตัน เล่นเทนนิส เดินเร็ว ปั่นจักรยาน วิ่งจ๊อกกิ้ง เล่นโยคะ เล่นเวท เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ อาจช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังป้องกันอาการท้องผูก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 19/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา