backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

หูชั้นนอกอักเสบ อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 21/09/2021

หูชั้นนอกอักเสบ อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

หูชั้นนอกอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของหูชั้นนอกซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ มีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากหากไม่ได้รับการรักษา เช่น อาการคัน เจ็บปวดในหู หนองไหลมีกลิ่นเหม็น หรืออาจทำให้การได้ยินลดลง ดังนั้นจึงควรรู้เกี่ยวกับสาเหตุ การรักษา และการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามมา

คำจำกัดความ

หูชั้นนอกอักเสบ คืออะไร

หูชั้นนอกอักเสบ คือ การติดเชื้อในช่องหูชั้นนอกซึ่งเป็นท่อระหว่างหูชั้นนอกกับแก้วหู ทำให้เกิดอาการอักเสบ โดยมีลักษณะผิวที่หนา แดงบวม ทำให้รู้สึกไม่สบายหู หรือคันหู

อาการ

อาการหูชั้นนอกอักเสบ

อาการของหูชั้นนอกอักเสบในระยะแรกมักไม่รุนแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาจนเกิดการติดเชื้อ อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งระดับ ของอาการจะเริ่มที่ไม่รุนแรง ระยะปานกลาง และระยะรุนแรง ดังนี้

ระยะไม่รุนแรง

  • ในช่องหูมีสีแดงเล็กน้อย
  • รู้สึกไม่สบายหู และมีอาการคันในช่องหู
  • ของเหลวมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู

ระยะปานกลาง

  • อาการคันรุนแรงขึ้น และเจ็บปวด
  • ในช่องหูมีสีแดงมากขึ้น
  • รู้สึกมีสิ่งอุตันในช่องหู เนื่องจากการบวมและของเหลวภายในหู
  • ของเหลวมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหูมากขึ้น
  • การได้ยินลดลง

ระยะรุนแรง

  • ช่องหูชั้นนอกบวมและแดง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • การอุดตันในช่องหูจากอาการบวมและของเหลวภายในหูมากขึ้น
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงซึ่งอาจลุกลามไปที่ใบหน้า คอ หรือศีรษะ
  • มีไข้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

คุณควรไปพบคุณหมอ เมื่อมีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์และระดับความรุนแรง

สาเหตุ

สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ

โดยปกติช่องหูชั้นนอกจะสร้างขี้หู เพื่อป้องกันการติดเชื้อและกีดขวางการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตามธรรมชาติ แต่เมื่อผิวหนังในช่องหูเกิดรอยแผล หรือรอยขีดข่วน เชื้อโรคก็อาจเข้ามาในช่องหูและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การแคะหู การใช้ไม้แคะหู เล็บ หรือกิ๊บติดผม ทำความสะอาดหู และการใช้หูฟัง หรือที่อุดหู สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือบาดแผลภายในรูหูได้
  • ความระคายเคืองและโรคผิวหนัง เครื่องสำอาง หรือเครื่องประดับอาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหนังได้ นอกจากนี้ โรคผิวหนัง เช่น สิว กลาก โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ เป็นสภาพผิวหนังที่อาจทำให้เกิดการอักเสบได้
  • ความชื้นในช่องหู การว่ายน้ำ หรืออาบน้ำ อาจทำให้เกิดความชื้นในหู ส่งผลให้ขี้หูในช่องหูน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในหูได้ง่ายขึ้น
  • อายุ หูชั้นนอกอักเสบมักพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงหูชั้นนอกอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในหู มีดังนี้

  • สัมผัสกับการปนเปื้อนของแบคทีเรียในน้ำ
  • ใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับหู เช่น หูฟัง ที่อุดหู เครื่องช่วยฟัง
  • ทำความสะอาดช่องหูด้วยไม้แคะหู หรือของแข็งอย่างกิ๊บติดผม เล็บ
  • ความชื้นในหูมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากสภาพอากาศ เหงื่อ การว่ายน้ำ หรือการอาบน้ำ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยหูชั้นนอกอักเสบ

คุณหมอจะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อทำการวินิจฉัยโรคหูชั้นนอกอักเสบ หากมีไข้หรือมีอาการที่รุนแรง คุณหมออาจทดสอบโดยการย้อมแกรม (Gram Staining) เป็นเทคนิคการย้อมสีเซลล์ของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญที่ใช้ในการศึกษาเซลล์ของแบคทีเรียร่วมกับกล้องจุลทรรศน์ และเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา

การรักษาหูชั้นนอกอักเสบ

การรักษาในเบื้องต้นคุณหมอจะทำความสะอาดสิ่งสกปรกภายในหู เช่น ผิวหนังที่ตายแล้ว ของเหลวมีกลิ่นเหม็น โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) เพื่อเช็ดทำความสะอาด หรือใช้อุปกรณ์ดูดออกมา

หากมีอาการรุนแรงมากคุณหมออาจให้ใส่ผ้าก๊อซเล็ก ๆ (Ear Wicks) เข้าไปในหู เพื่อไม่ให้ยาหยอดหูกระจายไปบริเวณอื่นมากเกินไป ซึ่งการใช้ยาแต่ละชนิดจะอยู่ในรูปแบบของยาเฉพาะที่ และขึ้นอยู่กับลักษณะของการเกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบ ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น สารละลายกรดอะซิติก 2% (Acetic Acid Solution) โพลีมัยซินบี (Polymixin B) อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone)
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น สารละลายกรดอะซิติก 2% (Acetic Acid Solution) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • สเตียรอยด์รักษาอาการบวม
  • ยาที่ช่วยคืนความสมดุลภายในช่องหู ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเติบโตได้

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการโรคหูชั้นนอกอักเสบ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • หลังจากการอาบน้ำหรือว่ายน้ำควรทำให้หูแห้งอยู่เสมอ โดยการเอียงหัวไปด้านข้างเพื่อให้น้ำไหลออก หรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดบริเวณหูชั้นนอกให้แห้ง
  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในทะเลสาบหรือแม่น้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก
  • สวมที่อุดหูหรือหมวกว่ายน้ำปิดหูในขณะว่ายน้ำเพื่อให้ภายในช่องหูแห้ง นอกจากนี้ หากต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสเปรย์ควรเอามือผิดหู หรือใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันการระคายเคือง
  • หากเคยติดเชื้อที่หูควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่ายน้ำ
  • ไม่ควรแกะหรือเกาในช่องหู หรือใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดแหย่เข้าไปในช่องหูลึก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลและระคายเคืองได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 21/09/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา