backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

คลอดลูกธรรมชาติ ข้อดี ข้อเสีย และการดูแลตัวเองหลังคลอด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

คลอดลูกธรรมชาติ ข้อดี ข้อเสีย และการดูแลตัวเองหลังคลอด

คลอดลูกธรรมชาติ เป็นวิธีการคลอดตามแบบปกติโดยไม่ใช้การผ่าตัด เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน ยกเว้นกรณีที่คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดไม่ขยาย ภาวะรกเกาะต่ำ ลูกไม่กลับศีรษะ ครรภ์เป็นพิษ ทารกได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ ที่อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าคลอดแทนเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก

คลอดลูกธรรมชาติ คืออะไร

การคลอดลูกธรรมชาติ คือ การคลอดลูกโดยไม่ใช้การผ่าตัดเพื่อทำคลอด แต่อาจใช้วิธีการควบคุมการหายใจเป็นจังหวะ เพื่อช่วยเพิ่มแรงเบ่งทารกให้ออกมาผ่านช่องคลอด โดยมีคุณหมอคอยบอกจังหวะการหายใจ การคลอดทารกแบบธรรมชาติอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

การคลอดลูกธรรมชาติ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

ข้อดีและข้อเสียของการคลอดลูกธรรมชาติ มีดังนี้

  • ข้อดี 

การคลอดลูกธรรมชาติ  มีข้อดีตรงที่คุณแม่สามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้ไวกว่าการผ่าคลอด เนื่องจากไม่มีบาดแผลขนาดใหญ่จากการผ่าตัด อีกทั้งยังอาจทำให้คุณแม่ได้รับประสบการณ์การคลอดลูก และรู้สึกใกล้ชิดกับทารกได้มากกว่าการผ่าคลอด

  • ข้อเสีย

คุณแม่อาจต้องทนเจ็บปวดกับมดลูกที่หดและขยายเป็นเวลานาน เนื่องจากต้องรอให้ปากมดลูกเปิดกว้างพอที่ศีรษะของทารกจะออกมาได้ นอกจากนี้ บางคนอาจเสี่ยงต่อการตกเลือดเนื่องจากรกหลุดออกไม่หมด

วิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดระหว่างคลอดลูกแบบธรรมชาติ

ในช่วงระยะเวลาที่รอให้ปากมดลูกขยายระหว่างการคลอดธรรมชาติ คุณแม่อาจสามารถบรรเทาอาการปวดได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ทำสมาธิ โยคะ
  • เดินช้า ๆ
  • นวดตามลำตัวและหลัง โดยอาจให้สามี หรือคนรอบข้างคอยนวดผ่อนคลาย
  • อาบน้ำ แช่น้ำอุ่น
  • ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ เช่น เปิดเพลงฟัง อ่านหนังสือ
  • เปลี่ยนท่านอนหรือท่านั่ง
  • ทำใจสบาย ๆ ให้กำลังใจตนเอง 

นอกจากนี้ ผู้คนที่อยู่รอบข้างควรให้กำลังใจ คอยดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดเพราะ ระหว่างที่รอให้ปากช่องคลอดขยายอาจทำให้คุณแม่เจ็บปวด วิตกกังวล และต้องการกำลังใจเป็นอย่างมาก

การดูแลตัวเองหลังคลอดลูก

การดูแลสุขภาพของตัวเองหลังคลอด มีดังนี้

  • พักผ่อนให้มาก ๆ โดยอาจขอความช่วยเหลือเรื่องการดูแลลูกจากสามีและคนในครอบครัว หรืออาจหาเวลางีบหลับเมื่อทารกนอน
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ธัญพืช ผัก ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการเจ็บปวด อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  • หมั่นออกกำลังกายในระดับเบาเป็นประจำ เช่น การเดิน เพื่อช่วยเผาผลาญแคลอรี่ กระชับกล้ามเนื้อ และช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น
  • ประคบเย็นบริเวณช่องคลอดเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม
  • หลีกเลี่ยงการนั่งบนพื้นผิวแข็ง ควรนำหมอนมารองก่อนนั่งเพื่อลดการกดทับ
  • ทำความสะอาดแผลคลอดทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว ด้วยการใช้น้ำอุ่นล้างหรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณแผลจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ใส่ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันเลือดออกทางช่องคลอด ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากรางกายกำลังกำจัดเนื้อเยื่อและเลือดที่ตกค้างภายในมดลูก โดยเลือดอาจจะไหลมากที่สุดในช่วง 10 วันแรก ก่อนจะลดลงหรือหยุดไหลเองภายใน 6 สัปดาห์
  • เปลี่ยนเสื้อชั้นในให้มีขนาดที่พอดีหรือใหญ่กว่าเต้านม สวมใส่สบาย ไม่กดทับหน้าอก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำร่างกายผลิตน้ำนมเตรียมให้ทารกหลังคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้เต้านมขยาย คัดเต้า เจ็บหน้าอก
  • บรรเทาอาการปวดเกร็งท้องที่อาจเกิดจากมดลูกหดตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการตั้งครรภ์ ด้วยการนำถุงน้ำร้อนมาวางไว้บนหน้าท้อง หรืออาจรับประทานยาแก้ปวดที่คุณหมอแนะนำ
  • ตรวจสุขภาพช่องคลอด ปากมดลูก และสุขภาพอื่น ๆ ภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด หรือตามวันที่คุณหมอกำหนด

อาการผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ

อาการผิดปกติที่ควรสังเกตหลังคลอด และควรเข้าพบคุณหมอทันที มีดังต่อไปนี้

  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศา
  • หนาวสั่น
  • อาเจียน
  • ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ตาพร่า
  • ปวดท้องรุนแรง
  • ตกขาวมีกลิ่น
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก หรือล้นผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา