backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ท้องผูกหลังคลอด สาเหตุ และวิธีการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ท้องผูกหลังคลอด สาเหตุ และวิธีการรักษา

ท้องผูกหลังคลอด อาจเกิดจากการที่ร่างกายของคุณแม่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวให้กลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยต่าง ๆ เช่น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ ที่ส่งผลให้กระบวนการขับถ่ายทำงานได้ไม่ดี และส่งผลให้มีอาการท้องผูก ดังนั้น คุณแม่หลังคลอดจึงควรดูแลสุขภาพด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือเข้าการรักษาจากคุณหมอในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้น

ท้องผูกหลังคลอด เกิดจากอะไร

หลังจากที่มีการคลอดบุตรแล้ว ร่างกายของคุณแม่ก็จะเริ่มกลับเข้าสู่สภาพเดิมอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถฟื้นฟูให้เป็นปกติได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว อวัยวะบางอย่างอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าที่จะปรับตัวกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ ลำไส้ของแม่หลังคลอดก็เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านการคลอดลูกมาหมาด ๆ ลำไส้จะยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ หรือขยับได้ไม่ค่อยดี จึงส่งผลให้กระบวนการดูดซึมสารอาหาร กระบวนการย่อยอาหาร และการลำเลียงกากอาหารที่ลำไส้ทำได้ไม่ดีนัก แม่หลังคลอดจึงมักเกิดอาการท้องผูกตามมา

อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูก หลังคลอด ยังอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยร่วมอื่น ๆ ด้วย ดังนี้

  • ร่างกายขาดน้ำ ทำให้ลำไส้แห้ง ลำเลียงอาหารและกากอาหารได้ไม่ดี
  • เคลื่อนไหวน้อย หลังคลอด ร่างกายของคุณแม่ต้องการพักฟื้น จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากนัก ทำให้อวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง จนส่งผลให้ท้องผูก
  • ความเครียดและความวิตกกังวลหลังคลอด มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ คุณแม่มือใหม่อาจจำเป็นต้องลุกมาดูแลลูกกลางดึกบ่อย ๆ จนนอนไม่พอ ซึ่งการพักผ่อนน้อยมีผลต่อกระบวนการขับถ่ายตามปกติ
  • คลอดลูกโดยการผ่าคลอด การคลอดลูกด้วยวิธีนี้อาจต้องใช้เวลา 3-4 วัน กว่าระบบย่อยอาหารจะทำงานได้เป็นปกติ ระหว่างนี้จึงอาจมีปัญหาท้องผูกเกิดขึ้นได้
  • กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเสียหายจากการคลอด ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ทำได้ยากขึ้น

วิธีการรักษาอาการท้องผูกหลังคลอด

อาการท้องผูก หลังคลอด ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงนัก และแม้จะเกิดได้บ่อยกับคุณแม่หลังคลอด แต่ก็สามารถรับมือเพื่อให้การขับถ่ายดีขึ้นได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ระบบทางเดินอาหารชุ่มชื้น สามารถลำเลียงอาหารและกากอาหารได้ดี อุจจาระนิ่มขึ้น และขับถ่ายได้ดีขึ้น
  • พยายามขับถ่ายอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่มีการขับถ่ายเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรละเลยการเข้าห้องน้ำ ให้พยายามเบ่งเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย เพราะถ้าหากละเลยและไม่พยายามขับถ่าย อาจเสี่ยงที่จะเกิดริดสีดวงทวารได้
  • เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น จริงอยู่ที่ หลังคลอด คุณแม่จำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะได้พักฟื้น แต่ก็ไม่ควรเอาแต่นอนเฉย ๆ ควรมีการขยับร่างกายบ้าง ลุกขึ้นยืน เดิน หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหว จะได้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  • เน้นไฟเบอร์ หลังคลอดคุณแม่ก็ยังจำเป็นต้องเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะไฟเบอร์ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร และช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
  • ใช้ยาระบายอ่อน ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย เพราะถ้าหากผ่านไปหลายวันหลังจากที่มีการคลอดลูก แต่ยังไม่มีการขับถ่ายเลย อาจเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรัง หรือริดสีดวงได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้เป็นเวลา เพื่อให้กระบวนการทำงานของระบบและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ กระบวนการขับถ่ายก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นปกติด้วย เมื่อกิจวัตรการเข้านอนและการตื่นนอนเป็นปกติ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

อาการท้องผูกหลังคลอด เป็นปัญหาสุขภาพ หลังคลอด ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป และส่วนมากจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งคุณแม่สามารถกลับมาขับถ่ายได้อย่างเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีอาการท้องผูกหลังคลอดติดต่อกันถึง 4 วัน หรือมากกว่านั้น ควรไปพบคุณหมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา