backup og meta

น้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดิน สัญญาณและวิธีรับมือที่ควรรู้

น้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดิน สัญญาณและวิธีรับมือที่ควรรู้

น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำมีรอยแตกหรือรั่ว น้ำคร่ำจะไหลออกมาผ่านทางปากมดลูกและช่องคลอด ภาวะนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าทารกพร้อมคลอดแล้ว แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ใกล้คลอด แต่หากเกิดภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์ยังไม่ครบ 37 สัปดาห์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

[embed-health-tool-due-date]

น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คืออะไร

ทารกได้รับการปกป้องอยู่ในเยื่อหุ้มรก หรือถุงน้ำคร่ำ ซึ่งเต็มไปด้วยของเหลวที่เรียกว่า น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) เมื่อถุงน้ำคร่ำมีรอยแตกหรือรั่ว น้ำคร่ำจะไหลออกมาผ่านทางปากมดลูกและช่องคลอด หรือที่เรียกว่า ภาวะน้ำเดิน นั่นเอง ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะการคลอด แต่ก็อาจเกิดขึ้นก่อนครบกำหนดคลอดได้เช่นกัน

น้ำคร่ำแตกมีอาการอย่างไร

ความรู้สึกของอาการน้ำคร่ำแตก แตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคน อาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกเหมือนถุงแตก น้ำคร่ำจะไหลทะลักออกมา และอาการน้ำคร่ำรั่วเล็กๆ จริงๆ คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจมีน้ำคร่ำไหลหยดช้าๆเหมือนกำลังปัสสาวะ

ในขณะที่บางรายอาจรุนแรงกว่านั้นมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงแรงกด จากนั้นจะรู้สึกเหมือนมีอะไรเล็ก ๆ แตกอยู่ข้างใน แล้วตามด้วยความรู้สึกโล่งทันทีที่ถุงน้ำคร่ำแตก

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่หรือท้องแรก อาจไม่มั่นใจว่าของเหลวที่ไหลออกมานั้นเป็นน้ำคร่ำหรือปัสสาวะกันแน่ จุดสังเกตก็คือ น้ำคร่ำจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆไม่เหนียว และไม่มีกลิ่น แต่ในบางครั้งน้ำคร่ำอาจมีกลิ่นเหมือนคลอรีนหรือน้ำอสุจิ หรืออาจมีเลือดปนอยู่เล็กน้อยได้เช่นกัน

น้ำคร่ำแตกเมื่อไร

โดยปกติแล้ว ถุงน้ำคร่ำจะแตกก่อนเกิดอาการเจ็บท้องคลอดเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะน้ำคร่ำแตกช่วงในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงตั้งครรภ์ประมาณร้อยละสิบ มีภาวะน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอด ที่เรียกว่า “ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด” หรือ “ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คลอด”(Premature rupture of membranes หรือ Prelabor rupture of membranes : PROM)

ในบางกรณีที่พบได้น้อย ผู้หญิงตั้งครรภ์ประมาณร้อยละสาม อาจเกิดภาวะน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm prelabor rupture of membranes: PPROM) ซึ่งหมายถึง ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ภาวะนี้ทำให้ทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และหากน้ำคร่ำแตกเร็วเกินไป คุณหมออาจต้องกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด

ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อน้ำคร่ำแตก

สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติก็คือ ทำใจให้สงบ และโทรเรียกโรงพยาบาลในพื้นที่ ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ อาจมีน้ำคร่ำในปริมาณประมาณ 800 มิลลิลิตร เพื่อให้มั่นใจได้ว่า น้ำคร่ำจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถสวมใส่แผ่นอนามัยเพื่อป้องกันน้ำคร่ำไหลเปื้อนเสื้อผ้าได้

หากมีน้ำคร่ำไหลออกมาในปริมาณมาก อาจป้องกันน้ำคร่ำเปื้อนเลอะเทอะได้ ด้วยการใช้ผ้าขนหนูสะอาดและแผ่นพลาสติกรองขณะเดินทางไปโรงพยาบาล

จะทำอย่างไรหากน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด

ในกรณีที่น้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด อาจต้องรอให้เริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอด ซึ่งมักเกิดขึ้นภายในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงหลังจากน้ำคร่ำแตก สามารถแช่น้ำหรืออาบน้ำฝักบัวได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของทารกในครรภ์ได้ หากถุงน้ำคร่ำแตกนานเกินกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บท้อง ให้แจ้งคุณหมอทันที

ในกรณีที่มีภาวะน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนด (น้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์) ควรแจ้งสูตินรีแพทย์ และไปโรงพยาบาลทันที ขณะเดินทางไปโรงพยาบาล ให้ระวังน้ำคร่ำให้ดี การสูญเสียน้ำคร่ำมากเกินไป อาจทำให้ลูกเกิดอาการเจ็บปวด และจะสังเกตเห็นได้จากสีของน้ำคร่ำ แทนที่จะเป็นน้ำใส ๆ น้ำคร่ำจะมีเลือดปนในปริมาณมาก และมีสีเขียวหรือสีคล้ำปนอยู่พร้อมกับมีกลิ่นเหม็น

สิ่งสำคัญคือ เมื่อน้ำคร่ำแตก ต้องคอยสังเกตน้ำคร่ำให้ดี โดยเฉพาะในภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เนื่องจากพบว่า ทารกที่แม่มีภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทารกที่คลอดโดยไม่มีภาวะน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด คุณแม่ต้องเพิ่มระมัดระวังตัวเอง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to expect when your water breaks. http://www.todaysparent.com/pregnancy/when-your-water-breaks-pregnancy/. Accessed August 22, 2016.

When your waters break. http://www.babycentre.co.uk/a1053562/when-your-waters-break. Accessed August 22, 2016.

Worried About Your Water Breaking? Here’s What You Need to Know. http://www.parents.com/pregnancy/giving-birth/signs-of-labor/water-breaking-what-you-need-to-know/. Accessed August 22, 2016.

Water breaking: What it feels like. http://www.babycenter.com/0_water-breaking-what-it-feels-like_10339934.bc. Accessed August 22, 2016.

Water breaking: Understand this sign of labor. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/water-breaking/art-20044142. Accessed August 7, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/08/2023

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คลอดลูกในน้ำ คืออะไร มีประโยชน์และความเสี่ยงอย่างไร

คลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เลือกวิธีไหนดีกว่ากัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 07/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา