backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ท้องแก่ใกล้คลอด ควรเตรียมตัวคลอดอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ท้องแก่ใกล้คลอด ควรเตรียมตัวคลอดอย่างไร

เมื่อ ท้องแก่ใกล้คลอด หรือเมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 คุณแม่ควรเริ่มศึกษาวิธีการเตรียมตัวคลอด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาฉุกละหุกในวันกำหนดคลอด และยังอาจช่วยลดความกังวลก่อนที่วันคลอดจะมาถึง รวมทั้งช่วยให้สามารถรับมือได้ดีหากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น คลอดก่อนกำหนด

การเตรียมตัวคลอด สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด

วิธีเตรียมตัวคลอดเหล่านี้ จะช่วยให้คุณแม่ใกล้คลอดพร้อมรับมือกับการคลอดลูกมาขึ้น

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด

คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด อย่างพัฒนาการของทารกในครรภ์ อาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ สัญญาณและอาการใกล้คลอด รูปแบบในการคลอดลูก ขั้นตอนในการคลอด หรืออื่น ๆ ไว้ด้วย

การทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณแม่รู้ข้อมูลพื้นฐาน และสามารถรับมือได้ดีขึ้น หากเกิดภาวะต่าง ๆ แต่แนะนำว่า คุณแม่ควรขอข้อมูลจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญแทนการค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองจากในอินเตอร์เน็ต จะได้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ หรือหากอยากศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตจริง ๆ ก็ควรเลือกเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้

เตรียมใจให้พร้อม

การเจริญสติ (Mindfulness Meditation) คือ ฝึกควบคุมสติของตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้คุณแม่ท้องแรกรับมือกับความหวาดกลัวที่มาพร้อมการตั้งครรภ์ได้ ทั้งยังช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดด้วย

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเจริญสติได้ง่ายมาก เพียงแค่หลับตา ทำสมาธิ เพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจของตัวเอง เริ่มจากวันละสัก 5 นาทีก่อนก็ได้ จากนั้นจึงค่อย ๆ ใช้เวลาเจริญสติให้นานถึงหากต้องการ

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นประจำทุกวัน เช่น เดินวันละ 30 นาที จะช่วยคลายเครียด ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น และช่วยให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวและรูปร่างที่เหมาะสม ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อการตั้งครรภ์และการคลอดลูกทั้งสิ้น

และไม่ใช่แค่นั้น เพราะงานวิจัยล่าสุดยังชี้ว่า การเดินในช่วงที่ตั้งครรภ์สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ภาวะทารกแรกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะทารกตัวโต หรือภาวะทารกมีน้ำหนักแรกเกิดสูง (Macrosomia) ทารกพิการแต่กำเนิด ได้ด้วย

วางแผนสำหรับวันคลอดไว้คร่าว ๆ

การวางแผนสำหรับวันคลอดคร่าว ๆ จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอุ่นใจเรื่องการคลอดลูกมากขึ้น แนะนำว่า คุณแม่ควรวางแผนการคลอดให้ง่าย ๆ อย่าซับซ้อน โดยอาจวางแผนการคลอดตามหัวข้อต่อไปนี้ก็ได้

  • อยากคลอดลูกด้วยวิธีไหน (วิธีในการคลอดลูกอาจไม่ตรงตามที่ต้องการก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของแพทย์)
  • วันคลอดอยากให้ใครอยู่ด้วย เช่น คนรัก เพื่อน พ่อแม่
  • อยากให้ใครเป็นคนตัดสายสะดือ
  • จะให้ลูกกินนมแม่หรือเปล่า
  • จะเลี้ยงลูกเองไหม

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ฉะนั้นหากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ควรตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หรือเป็นกังวลจนเกินเหตุ

ของที่ควรเตรียมพร้อมก่อนคลอด

สิ่งที่คุณแม่ท้องแก่ใกล้คลอดควรเตรียมเอาไว้ให้พร้อมก่อนถึงกำหนดคลอด เช่น

  • ชุดชั้นในและเสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบายสัก 2-3 ชุด
  • ผ้าอนามัยแบบซึมซับมากเป็นพิเศษ
  • แผ่นปิดหัวนม
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน หวี ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า
  • เครื่องดื่มที่ช่วยเติมพลังงานก่อนคลอดลูก เช่น น้ำผลไม้
  • สิ่งของที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น หนังสือเล่มโปรด แมกกาซีน
  • เสื้อผ้า หมวก ถุงมือ ถุงเท้า และผ้าอ้อมสำหรับลูก
  • ผ้าสำหรับห่อตัวลูกกลับบ้าน
  • คาร์ซีทสำหรับทารก
  • เอกสารสำคัญ เช่น ใบฝากครรภ์ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน เพื่อแจ้งเกิดให้ลูก

ข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมก่อนคลอดนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และบางโรงพยาบาลอาจเตรียมของบางอย่างเอาไว้ให้แล้ว ฉะนั้น หากไม่แน่ใจว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้างในวันคลอด สามารถสอบถามคุณหมอหรือพยาบาลได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าพร้อมคลอดลูกแล้ว

อาการใกล้คลอดของคุณแม่ท้องแก่แต่ละคนมักจะแตกต่างกันออกไป ไม่ได้เหมือนกันหมดทุกคน แต่คุณแม่ใกล้คลอดส่วนใหญ่ มักมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1-2 ข้อ

  • มดลูกเริ่มหดตัวบ่อยขึ้น และระยะห่างในการหดตัวแต่ละครั้งก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ
  • มดลูกหดตัวนานขึ้นและแรงขึ้น
  • น้ำคร่ำแตก ซึ่งหากมีอาการนี้ร่วมกับอาการมดลูกหดตัว นั่นแปลว่า ทารกน้อยพร้อมลืมตาดูโลกแล้วแน่นอน
  • ปวดท้อง ลักษณะคล้ายเวลาปวดประจำเดือน ร่วมกับปวดหลังส่วนล่าง
  • มีมูกเลือดที่เรียกว่า show หรือ bloody show ปริมาณเล็กน้อยไหลออกจากช่องคลอด โดยมูกเลือดที่ว่าอาจมีสีออกน้ำตาลหรือออกชมพูก็ได้

หากไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้น ใช่อาการใกล้คลอดหรือไม่ ควรโทรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา