backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

6

ถามคุณหมอ
บันทึก

ท้อง1เดือนกินยาขับเลือดออกไหม และมีอันตรายอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

ท้อง1เดือนกินยาขับเลือดออกไหม และมีอันตรายอย่างไรบ้าง

ยาขับเลือด เป็นยาสตรีที่ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ หลายคนจึงอาจสงสัยว่า ท้อง1เดือนกินยาขับเลือดออกไหม โดยทั่วไปการกินยาขับเลือดชนิดนี้ไม่สามารถทำให้แท้งได้ ไม่ว่าจะกินในช่วงอายุครรภ์ไหนหรือกินในปริมาณมาก แต่หากกินอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

ยาขับเลือด คืออะไร

ยาขับเลือด หรือ ยาสตรี มักใช้ในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นยาที่ช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน อาจมีส่วนประกอบของสมุนไพรหรือตัวยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น ช่วยให้ประจำเดือนมีปริมาณปกติและมาในช่วงรอบเดือนที่เป็นปกติมากขึ้น

ท้อง1เดือนกินยาขับเลือดออกไหม

ยาขับเลือดมีคุณสมบัติที่ช่วยในการขับประจำเดือนและช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ซึ่งส่วนผสมในยาประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด เช่น ว่านชักมดลูก สะระแหน่ ดอกคำฝอย ชะเอม ดอกจันทน์ น้ำผึ้ง เปลือกส้ม ขิง ไพล ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติช่วยขับตัวอ่อนหรือทำแท้ง ถึงแม้ว่าบางคนจะกินยาขับเลือดในช่วงท้อง 1 เดือน หรือช่วงเวลาใดของการตั้งท้อง หรือจะกินในปริมาณมากก็ไม่สามารถทำให้แท้งได้ แต่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้หากกินในปริมาณที่มากเกินไป

ท้อง1เดือนกินยาขับเลือดอันตรายไหม

การกินยาขับเลือดในปริมาณที่มากเกินไปและเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ ดังนี้

  • ตกขาวมีปริมาณมากขึ้นและยาวนานขึ้น
  • ช่องคลอด โพรงมดลูก และปากมดลูกอาจอักเสบได้
  • อาจทำให้ทารกในท้องมีภาวะพิการแต่กำเนิด เนื่องจากยาขับเลือดบางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • อาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูก หรือเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ มดลูก ปากมดลูก โดยเฉพาะในผู้ที่กินยาขับเลือดติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การกินยาขับเลือดอาจเสี่ยงทำให้อาการของโรคประจำตัวบางชนิดรุนแรงขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดอุดตัน

การยุติการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ในปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย หรือโทร 1663 เพื่อขอคำปรึกษาและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้าน

อย่างไรก็ตาม ยายุติการตั้งครรภ์มีหลายประเภทจึงควรทราบถึงผลข้างเคียงของการใช้ยา เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ ดังนี้

  • ยามิเฟพริสโตน (Mifepristone) สำหรับการทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งท้อง หรือประมาณสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งท้อง อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย อ่อนแรง ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม
  • ยาไมโซพรอสตอล (Misoprostol) มักใช้ร่วมกับยามิเฟพริสโตน ช่วยให้มดลูกบีบตัวและขับเนื้อเยื่อออกจากมดลูก อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะน้อย วิงเวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด

อย่างไรก็ตาม การใช้ยายุติการตั้งครรภ์จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา