backup og meta

ยายุติการตั้งครรภ์ ซื้อที่ไหน ซื้อใช้เองอันตรายไหม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    ยายุติการตั้งครรภ์ ซื้อที่ไหน ซื้อใช้เองอันตรายไหม

    ยายุติการตั้งครรภ์ คือ ยาที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารบางอย่างที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวเพื่อทำให้ชิ้นส่วนการตั้งครรภ์หลุดออกมา ใช้สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ภาวะท้องลม ภาวะตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโตในครรภ์ หรือในผู้ที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยมีอายุครรภ์ไม่เกิน 9-12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ หลายคนอาจสงสัยว่า ยายุติการตั้งครรภ์ ซื้อที่ไหน สามารถซื้อใช้เองได้หรือไม่

    ยายุติการตั้งครรภ์ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและได้รับขึ้นทะเบียนในประเทศไทย คือ ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) และไมเฟพริสโตน (Mifepristone) ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องได้รับการดูแลจากคุณหมอเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อมารับประทานเองได้ และการรับประทานยายุติตั้งครรภ์อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ท้องเสีย มีเลือดออกทางช่องคลอด จึงควรใช้ภายใต้การดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    ยายุติการตั้งครรภ์ คืออะไร

    ยายุติการตั้งครรภ์ หรือยาทำแท้ง คือ ยาที่ทำให้มดลูกบีบตัวและขับเนื้อเยื่อออกจากมดลูก โดยยายุติการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักแนะนำให้ใช้ได้เมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ หรือ 12 สัปดาห์ หรือในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เพราะเป็นช่วงอายุครรภ์ที่มักจะขับชิ้นส่วนหรือเนื้อเยื่อการตั้งครรภ์ออกมาได้หมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอและลักษณะอาการของหญิงตั้งครรภ์แต่ละราย ในบางกรณีคุณหมออาจให้ใช้ยาดังกล่าวในอายุครรภ์ที่มากกว่าที่กล่าวไปได้

    ประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องได้ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา 305 (1)(2) และมาตรา 276, 277, 282, 283 และ 284 ดังนี้

    ประมวลกฎหมายอาญา 305 วรรค 1

    ว่าด้วย 1. การตั้งครรภ์ที่ครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพมารดา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และ 2. กรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง ภายใต้ข้อบังคับแพทยสภา ระบุว่า ความรุนแรงนั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของมารดา

    ประมวลกฎหมายอาญา 305 วรรค 2

    ว่าด้วย การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอีก 5 มาตรา ดังนี้

  • มาตรา 276 ว่าด้วยการถูกข่มขืนกระทำชำเรา
  • มาตรา 277 ว่าด้วยการทำให้เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการสมยอมหรือไม่ก็ตาม
  • มาตรา 282, 283 และ 284 ว่าด้วยการล่อลวงผู้อื่นมาทำอนาจาร สนองความใคร่โดยใช้อุบายล่อลวง บังคับ ข่มขู่ แม้ว่าในท้ายที่สุดอาจจะเกิดความสมยอมกันก็ตาม
  • โดยผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถติดต่อสายด่วนหรือสถานบริการใกล้บ้านเพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ พร้อมรับคำการปรึกษาการใช้ยา และการดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

    ประเภทของยายุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย

    1. ยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone)

    ยาไมเฟพริสโตน 200 มิลลิกรัม เป็นยาที่ก่อให้เกิดอาการแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คือ ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ มักใช้ร่วมกับยาไมโซพรอสทอล (Misoprostol) โดยยาจะเข้าไปขัดขวางฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์

    ผลข้างเคียง อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย อ่อนแรง ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการเกิน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม

    ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ยาไมเฟพริสโตนหากมีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก เพราะนอกจากจะไม่ช่วยยุติการตั้งครรภ์แล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดเลือดออกรุนแรงในบริเวณท่อนำไข่ที่ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตอยู่ได้ จึงปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาต่อมหมวกไต ปัญหาเลือดออกผิดปกติ ใช้ห่วงอนามัย หรือผู้ที่ตั้งครรภ์นานกว่า 12 สัปดาห์

    1. ยาไมโซพรอสทอล (Misoprostol)

    ยาไมโซพรอสทอลเป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาไมเฟพริสโตนเพื่อยุติการตั้งครรภ์ หรืออาจจะใช้ยาตัวนี้เดี่ยว ๆ ก็ได้ ยาจะช่วยทำให้มดลูกบีบตัวและขับเนื้อเยื่อออกจากมดลูก นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ยาไมโซพรอสทอลเพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารเป็นแผลในขณะใช้ยาชนิดอื่น เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน ยานาพรอกเซน (Naproxen)

    ผลข้างเคียง อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จึงควรพบคุณหมอทันทีหากอาการแย่ลงหรือมีอาการรุนแรง เช่น ภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะน้อย วิงเวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดจำนวนมาก

    ข้อควรระวัง ควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากมีประวัติการรักษาโรคกระเพาะหรือโรคลำไส้อักเสบ และหากใช้ยาไมโซพรอสทอลร่วมกับยาไมเฟพริสโตนเพื่อยุติการตั้งครรภ์แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดยาวนาน ปวดท้องรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น เป็นลม ควรรีบพบคุณหมอทันที

    ข้อห้ามสำหรับการใช้ยายายุติการตั้งครรภ์

    ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังนี้ไม่ควรใช้ยาไมเฟพริสโตนและยาไมโซพรอสทอล

  • มีภาวะเลือดออกไม่หยุด หรือเป็นโรคเลือดขั้นรุนแรง
  • มีภาวะท้องนอกมดลูก
  • เป็นโรคปอดหรือโรคหอบหืดรุนแรง และต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ
  • เป็นโรคต่อมหมวกไต หรือโรคไตขั้นรุนแรง
  • ก่อนใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาและได้รับการอนุญาตจากคุณหมอ และใช้ยาจากสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ

    ความเสี่ยงจากการใช้ยายุติการตั้งครรภ์

    การใช้ยายุติการตั้งครรภ์จะปลอดภัยเมื่อได้รับการควบคุมขนาดยา และได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด แต่หากใช้ยาผิดขนาด ผิดวิธี ใช้ยาปลอม หรือไม่ได้รับการตรวจสุขภาพและการแพ้ยา อาจเสี่ยงเกิดปัญหารุนแรงได้ ดังนี้

    • หากใช้ยาเกินขนาดอาจส่งผลให้มดลูกแตกและเสียชีวิตได้
    • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางชนิด เช่น ภาวะท้องนอกมดลูก โรคไต ภาวะเลือดออกไม่หยุด ไม่ควรใช้ยายุติการตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้เลือดออกไม่หยุดหรือมดลูกแตกได้
    • ผู้ที่ซื้อยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ตเสี่ยงได้รับยาปลอม ไม่ได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาและอาการข้างเคียงอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดปัญหาแท้งบุตรไม่สมบูรณ์ ตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้

    ยายุติการตั้งครรภ์ ซื้อที่ไหน

    แม้ในปัจจุบันยายุติการตั้งครรภ์จะขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้โครงการพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม จึงทำให้เข้าถึงยาได้ค่อนข้างยาก ผู้ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์สามารถต้องติดต่อสายด่วน 1663 เพื่อรับคำปรึกษาและส่งต่อไปยังสถานบริการใกล้บ้าน หรือสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยตรง ดังนี้

    คลินิกเวชกรรม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ควรติดต่อนัดหมายก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง ได้แก่

    • คลินิกเวชกรรม PDA สาขากรุงเทพ (RSA) เป็นสถานบริการในเครือข่าย สปสช. ติดต่อ 02-229-5803-5 ต่อ 250,251 หรือ 062-2591299
    • คลินิกเวชกรรมสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สาขาเชียงราย ติดต่อ 053-711475 หรือ 090-6721261
    •  คลินิกเวชกรรมสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สาขาเชียงใหม่ ติดต่อ 053-277-805-6
    • คลินิกเวชกรรมสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สาขานครราชสีมา ติดต่อ 044-255-361
    • คลินิกวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลคลองตัน (RSA) เป็นสถานบริการในเครือข่าย สปสช. ติดต่อ 02-319-2101 ถึง 5 ต่อ 151 หรือ 172, 02-318-1779

    คลินิกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) 10 สาขา ควรติดต่อนัดหมายก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง ได้แก่

    • คลินิก สวท. เวชกรรม ปิ่นเกล้า ติดต่อ 02-433-9077 หรือ 02-433-3503
    • คลินิก สวท. เวชกรรม ดินแดง (RSA) เป็นสถานบริการในเครือข่าย สปสช. ติดต่อ 02-245-1888 หรือ 02-245-73824
    • คลินิก สวท. เวชกรรม บางเขน (RSA) เป็นสถานบริการในเครือข่าย สปสช. ติดต่อ 02-941-2320 ต่อ 181-182
    • คลินิก สวท. เวชกรรม หาดใหญ่ ติดต่อ 074-252-691 หรือ 085-585-9580
    • คลินิก สวท. เวชกรรม ภูเก็ต ติดต่อ 085-585-9580
    • คลินิก สวท. เวชกรรม เชียงราย ติดต่อ 053-713-090
    • คลินิก สวท. เวชกรรม ลำปาง ติดต่อ 054-209-577
    • คลินิก สวท. เวชกรรม เชียงใหม่ ติดต่อ 053-249-406
    • คลินิก สวท. เวชกรรม อุบลราชธานี ติดต่อ 045-243-380
    • คลินิก สวท. เวชกรรมขอนแก่น ติดต่อ 043-223-627

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา