backup og meta

ท้องนอกมดลูกเกิดจากกรณีใด สัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/09/2022

    ท้องนอกมดลูกเกิดจากกรณีใด สัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยง

    การท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือ ภาวะที่มีการฝังตัวของตัวอ่อนนอกโพรงมดลูก โดยเกิดมากที่บริเวณปีกมดลูกหรือบริเวณท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เป็นภาวะการตั้งครรภ์ผิดปกติที่อาจเป็นอันตรายกับทั้งหญิงตั้งครรภ์ได้ และตัวอ่อนในครรภ์จะไม่สามารถเติบโตจนคลอดไดh หลายคนอาจสงสัยว่า ท้องนอกมดลูกเกิดจากกรณีใด ผู้หญิงบางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้ง่ายกว่าคนอื่น เช่น เคยผ่าตัดหรือทำหัตการใด ๆ ที่บริเวณท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด การสูบบุหรี่ โดยหากหญิงตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องฉับพลัน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะท้องนอกมดลูก ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

    ท้องนอกมดลูกเกิดจากกรณีใด

    ภาวะท้องนอกมดลูกเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อนเดินทางไปไม่ถึงผนังมดลูก แต่ไปฝังตัวอยู่บริเวณนอกมดลูกเสียก่อน โดยส่วนใหญ่มักไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่ และบริเวณอื่น ๆ เช่น รังไข่ ปากมดลูก บริเวณอื่น ๆ ภายในช่องท้อง แต่เนื่องจากอวัยวะด้านนอกไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับตัวอ่อนที่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถขยายตัวได้เหมือนมดลูก การตั้งครรภ์จึงไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกไม่อาจอยู่รอดและมีพัฒนาการต่อไปได้ เนื้อเยื่อที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้มีภาวะเลือดออกภายในช่องท้อง และเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

    สาเหตุของภาวะท้องนอกมดลูก อาจมีดังนี้

  • ฮอร์โมนภายในร่างกายทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • อาการอักเสบและรอยแผลเป็นภายในท่อนำไข่จากการผ่าตัดก่อนหน้านี้ ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางไปถึงมดลูกได้ตามปกติ
  • ตัวอ่อนเจริญเติบโตผิดปกติ
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ท้องนอกมดลูก

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ท้องนอกมดลูก อาจมีดังนี้

    • เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน อาจทำให้เกิดภาวะนี้ซ้ำได้อีก
    • มีภาวะมีบุตรยากหรือภาวะไม่เจริญพันธุ์
    • อายุ 35 ปีขึ้นไป อาจเสี่ยงท้องนอกมดลูกได้มากขึ้น
    • เคยผ่าตัดรักษาอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดช่องท้อง หรือรักษาท่อนำไข่มาก่อน
    • มีประวัติเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกมดลูก เช่น ท่อนำไข่ หรือบริเวณอื่น ๆ และเกิดแผลที่อาจทำให้ไข่ที่ได้กับการผสมกับอสุจิและปฏิสนธิแล้วไปไม่ถึงมดลูก
    • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ทำให้เนื้อเยื่อเกิดแผลเป็น ส่งผลให้ไข่ที่ผสมกับอสุจิและปฏิสนธิแล้วเดินทางไปไม่ถึงมดลูก และไข่ฝังอยู่ในท่อนำไข่แทน
    • สูบบุหรี่เป็นประจำ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลให้เยื่อบุท่อนำไข่ทำงานผิดปกติ และอาจทำให้ไข่เดินทางไปไม่ถึงบริเวณผนังไข่มดลูก
    • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม อาจทำให้เกิดการอักเสบในท่อนำไข่และอวัยวะอื่น ๆ บริเวณมดลูก ทำให้เกิดการตีบตันในท่อนำไข่ จนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้
    • ผู้ที่คุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine device หรือ IUD) หากตั้งท้องระหว่างใส่ห่วงคุมกำเนิด อาจเสี่ยงท้องนอกมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

    สัญญาณของภาวะท้องนอกมดลูก

    อาการของภาวะท้องนอกมดลูกอาจคล้ายคลึงกับการตั้งท้องตามปกติ อาการที่พบบ่อย อาจมีดังนี้

    • เวียนศีรษะหรืออ่อนเพลีย
    • อาเจียน
    • ปวดท้องเฉียบพลัน
    • ปวดไหล่ คอ หรือทวารหนัก
    • ปวดกระดูกเชิงกรานหรือบริเวณท้องน้อย
    • ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก
    • มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย

    เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

    การตั้งท้องนอกมดลูกอาจทำให้ท่อนำไข่แตก และทำให้เกิดภาวะเลือดออกในร่างกาย (Internal bleeding) ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สัญญาณของภาวะท่อนำไข่แตกที่ควรสังเกต เช่น อาการปวดท้องรุนแรง มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ปวดไหล่ หรือหากมีอาการปวดท้องรุนแรงที่ข้างใดข้างหนึ่ง ควรไปพบคุณหมอและเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา