backup og meta

อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการ

    ความอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องมากอาจยิ่งทำให้อ่อนเพลียมากขึ้น ซึ่งอาการอ่อนเพลียจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีอาจช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ได้

    อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุใด

    อาการอ่อนเพลียมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกประมาณสัปดาห์ที่ 1-13 ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงและการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อาการจุกเสียดท้อง อาจยิ่งทำให้อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์มากขึ้น

    เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปจนถึงไตรมาสที่ 2 อาการอ่อนเพลียจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือหายไปเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 อาการอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากความเครียดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้คุณแม่นอนหลับไม่สนิทและไม่สบายตัวจนก่อให้เกิดความอ่อนเพลียได้

    นอกจากนี้ อาการอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้

  • โรคโลหิตจาง
  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้รู้สึกปวดกล้ามเนื้อและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยรวม อาจนำไปสู่อาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน เนื่องจากอาการปวดเมื่อยรุนแรง
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ในช่วงแรก แต่ต่อมาอาจแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ปวดตามข้อ โรคอ้วน การทำงานของหัวใจผิดปกติ ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
    • การติดเชื้อ  เช่น การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ แผลติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ภาวะซึมเศร้า

    เมื่อไหร่ที่ควรพบคุณหมอ

    หากอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียในขณะตั้งครรภ์รุนแรงขึ้นหรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

  • ความเหนื่อยล้าและอาการอ่อนเพลียเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การพักผ่อนไม่ช่วยให้อาการอ่อนเพลียและความเหนื่อยล้าดีขึ้น
  • ความเหนื่อยล้าและอาการอ่อนเพลียไม่หายไปแม้ว่าจะเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 แล้ว
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ความอ่อนเพลียอาจเป็นสัญญาณของโรค เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคโลหิตจาง ภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์
  • อาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัวรุนแรง หายใจลำบาก ใจสั่น ปวดท้องตอนบน
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • มือ ข้อมือ เท้าและข้อเท้าบวม
  • วิธีบรรเทาอาการอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์

    เพื่อรับมือกับอาการอ่อนเพลีย การจัดการกับต้นเหตุของอาการอาจช่วยบรรเทาความอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

    • จัดการกับความร้อน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นในผิวหนังอาจทำให้รู้สึกร้อนและมีเหงื่อออกเพิ่มขึ้น คุณแม่อาจสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ระบายอากาศดี อยู่ในห้องที่ปลอดโปร่ง เปิดหน้าต่างระบายอากาศ อาบน้ำบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกร้อน และดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 2.7 ลิตร เพื่อให้ร่างกายสดชื่น
    • จัดการกับความเหนื่อย ความเหนื่อยและความอ่อนเพลียมักเกิดขึ้นมากในช่วงประมาณ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ยิ่งคุณแม่มีอาการแพ้ท้องจะยิ่งรู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น จึงควรจัดการกับความอ่อนเพลียด้วยการพักผ่อนให้มากขึ้น โดยอาจงีบหลับระหว่างวัน พยายามนั่งยกขาเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหากต้องการหยิบสิ่งของหรือต้องการสิ่งใด เพื่อลดการออกแรงที่อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    • จัดการกับอาการหน้ามืดเป็นลม การตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและหากสมองได้รับเลือดไม่เพียงพออาจทำให้ออกซิเจนในสมองต่ำจนทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ หากรู้สึกหน้ามืดให้นั่ง นอนราบหรือนอนตะแคงซ้ายเพื่อบรรเทาอาการ พยายามลุกขึ้นช้า ๆ จากการนั่งหรือนอน กินอาหารให้เพียงพอเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณไม่เกิน 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก่อนรับประทานอาหาร และไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
    • การปรับตารางเวลาและกิจกรรม หากกิจวัตรประจำวันที่เคยทำก่อนตั้งครรภ์ทำให้อ่อนเพลียระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้น ควรจัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมใหม่และหยุดพักให้มากขึ้น หรือขอให้คนในครอบครัวช่วยทำให้
    • การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายตัวเองและทารกในครรภ์ ควรเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก และโปรตีน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ตับ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา
    • การออกกำลังกาย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายระดับปานกลางเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดิน โยคะเพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา