backup og meta

โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาจหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่โรคนี้อาจส่งผลอันตรายอย่างรุนแรงหากเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า พิการ หรือบกพร่องทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์และป้องกัน โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ ควรตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีน หากไม่เคยฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

[embed-health-tool-due-date]

โรคหัดเยอรมัน คืออะไร

โรคหัดเยอรมัน (Rubella หรือ German measles) เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสประเภทหนึ่ง โดยจะก่อให้เกิดอาการที่เห็นเด่นชัดคือ ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายกับโรคหัด แต่สองโรคนี้แตกต่างกันคือ เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิด และอาการของโรคหัดเยอรมันไม่รุนแรงเท่ากับโรคหัด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยปกติโรคหัดเยอรมันนั้นมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงสำหรับคนทั่วไป แต่หากเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดหรือเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โลหิตจาง ตับอักเสบ

ทั้งนี้ โรคหัดเยอรมันจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกหรือ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโรคหัดเยอรมันมักมีโอกาสมากกว่า 90% ที่จะส่งต่อเชื้อไวรัสนี้ไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ หรือในกรณีรุนแรงอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ โดยทั่วโลกนั้นมีทารกที่เป็นโรคหัดเยอรมันตั้งแต่กำเนิด เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 รายต่อปี

โรคหัดเยอรมันทำร้ายทารกในครรภ์ ได้อย่างไร

โรคหัดเยอรมันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกในครรภ์ โดยอาจก่อให้เกิดภาวะต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (Growth retardation)
  • โรคต้อกระจก (Cataracts)
  • การได้ยินบกพร่อง หรือหูหนวก
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart defects) โดยเฉพาะโรคลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบแคบ (pulmonary artery stenosis) และโรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (patent ductus arteriosus)
  • อวัยวะส่วนอื่นๆ พิการ เช่น กระโหลกศีรษะเล็กผิดปกติ
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ตับอักเสบ
  • ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเป็นโรคหัดเยอรมันในช่วงอื่นของการตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้เช่นกัน ควรเฝ้าติดตามสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด และขอคำแนะนำจากคุณหมอ

อาการของ โรคหัดเยอรมัน

สัญญาณและอาการของโรคหัดเยอรมันค่อนข้างยากต่อการสังเกต โดยเฉพาะในเด็ก กว่า 25-50% ของผู้ที่ติดเชื้อหัดเยอรมันนั้นอาจจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย แต่หากมีอาการที่แสดงให้เห็น อาการเหล่านี้ก็มักจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์แรกหลังจากติดเชื้อไวรัส และมักจะมีอาการต่อเนื่องไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน

อาการที่อาจเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

  • เป็นไข้ต่ำ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดหัว
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ตาแดง ตาอักเสบ
  • บริเวณท้ายทอย หลังคอ หรือหลังใบหูอาจจะมีอาการปูดบวม
  • มีผื่นแดงใบบริเวณใบหน้า ก่อนจะลุกลามไปยังลำตัวและแขนขา
  • ปวดข้อต่อ โดยเฉพาะในผู้หญิง

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันอาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ซึ่งมักจะมาในรูปแบบวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน หรือที่เรียกว่า วัคซีน MMR ทั้งนี้ เด็กควรจะได้รับวัคซีน MMR ตั้งแต่ช่วงอายุ 12-15 เดือน และรับวัคซีนอีกครั้งเมื่อมีอายุ 4-6 ปี

คนส่วนใหญ่มักจะได้รับวัคซีนครบสองครั้งแล้วตั้งแต่ช่วงเป็นทารก แต่หากไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยเฉพาะเพศหญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันระหว่างการตั้งครรภ์

วัคซีนหัดเยอรมันไม่เหมาะสำหรับใครบ้าง

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่มีแผนว่าจะตั้งครรภ์ภายใน 4 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนนี้ เนื่องจากวัคซีนหัดเยอรมันนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อเจลาติน ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) หรือเคยได้รับวัคซีน MMR มาก่อนแล้วมีอาการแพ้

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนนั้นมักจะไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ หรือหากมีก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนประมาณ 15% อาจจะมีอาการไข้ต่ำๆ ภายใน 12 วันหลังจากรับวัคซีน และอีก 5% ที่อาจจะมีอาการผดผื่น ผู้หญิงบางรายอาจจะมีอาการปวดข้อต่อ อย่างไรก็ตาม อัตราของผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อวัคซีนหัดยเยอรมันจำนวน 1 ใน 1 ล้านคน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Rubella (German Measles). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17798-rubella. Accessed October 25, 2022.

Rubella (German Measles, Three-Day Measles https://www.cdc.gov/rubella/index.html. Accessed October 25, 2022.

Rubella (German Measles). https://kidshealth.org/en/parents/german-measles.html. Accessed October 25, 2022.

Rubella. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-rubella. Accessed October 25, 2022.

Why is it important to avoid rubella, or German measles? https://www.medicalnewstoday.com/articles/164504.php. Accessed October 25, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคท็อกโซพลาสโมซิส ส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา