backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ตาแดง เพียงแค่สบตา ก็ติดต่อกันได้จริงเหรอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

ตาแดง เพียงแค่สบตา ก็ติดต่อกันได้จริงเหรอ

เราอาจจะเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่หลาย ๆ คนบอกไม่ให้เราสบตากับคนที่เป็น ตาแดง หรือให้แลบลิ้นใส่คนที่เป็นตาแดงเพื่อแก้เคล็ดไม่ให้โรคติดต่อกัน แต่โรคนี้สามารถติดต่อสู่คนอื่นได้จากการสบตาจริง ๆ หรือไม่อย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และป้องกันโรคได้อย่างไรบ้าง

ตาแดง เกิดจากอะไร

ตาแดง (Conjunctivitis or Pink eye) เป็นอาการอักเสบของเยื่อบุลูกตา ซึ่งคือส่วนที่เป็นสีขาวของดวงตาและภายในเปลือกตา ตาแดงนั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อและไม่ใช่การติดเชื้อ แต่โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการติดเชื้อ และสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปกติแล้ว ตาแดง มักจะพบได้มากในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

ตาแดง จากการติดเชื้อได้ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเป็นเชื้อประเภทเดียวกันกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหวัดและการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น การติดเชื้อที่หู การติดเชื้อที่ไซนัส หรืออาการเจ็บคอจากการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อแบคทีเรียนั้นยังอาจจะเป็นเชื้อประเภทเดียวกันกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหนองในได้เช่นกัน หากได้สัมผัสกับบริเวณอวัยวะเพศของผู้ที่ติดเชื้อหนองใน แล้วมาขยี้ตาโดยไม่ได้ล้างมือ

ความแตกต่างของ โรคตาแดง จากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย

  • ตาแดง จากเชื้อไวรัส โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายมาจากบริเวณจมูก หรือเกิดจากเชื้อไวรัสที่ได้รับเมื่อมีคนมาไอหรือจามใส่
  • ตาแดง จากเชื้อแบคทีเรีย โรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียนั้นมักจะมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มาจากระบบทางเดินหายใจหรือแบคทีเรียบนผิวหนัง นอกจากนี้ อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อแบคทีเรียจากการสัมผัสกับมือที่สกปรก ใช้เครื่องสำอางที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หรือแบ่งปันของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดโรคตาแดงอยู่ได้เช่นกัน

ตาแดง จากการติดเชื้อทั้ง 2 ประเภทนั้น มักจะมีอาการที่คล้ายกัน คือ มีอาการตาแดงในบริเวณลูกตาขาว มีน้ำตาไหล คัน บวม ระคายเคือง หรือแสบตา แต่อาการตาแดงจากเชื้อไวรัสนั้นอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยลามไปยังอีกข้าง ในขณะที่อาการตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียนั้นมักจะเกิดขึ้นกับดวงตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน แพทย์สามารถแยกประเภทของการติดเชื้อได้จากการตรวจสอบตัวอย่างของสารคัดหลั่งจากดวงตา เพื่อแยกแยะว่าเป็นโรคตาแดง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย

ตาแดง ติดต่อสู่ผู้อื่นได้อย่างไร

ตาแดง ที่เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียนั้นก็ล้วนแล้วแต่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ด้วยกันทั้งสิ้น โดยปกติแล้ว ตาแดง สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ด้วยวิธีเดียวกันกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ (ช่วงเวลาที่เริ่มติดเชื้อและช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการ) สำหรับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 24-72 ชั่วโมง

หากสัมผัสกับสิ่งของหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย แล้วใช้มือที่ปนเปื้อนนั้นมาสัมผัสกับดวงตา ก็มักจะทำให้ติดโรคได้ โดยปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 8 ชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน ในขณะที่เชื้อไวรัสมักจะมีชีวิตอยู่นานเป็นเวลาหลายวัน

ตาแดงสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้จากการสัมผัสและการติดต่ออย่างใกล้ชิด เช่น การจับมือ การกอด หรือการจูบ นอกจากนี้ การไอ และการจาม ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคนี้ได้เช่น ความเสี่ยงในการเกิด ตาแดง จะสูงขึ้น หากสวมคอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะหากใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน เนื่องจากมีเวลาให้เชื้อแบคทีเรียนั้นเจริญเติบโตขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ

โดยปกติแล้ว ตาแดง จะยังอยู่ในระยะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ ตราบใดที่ยังคงมีอาการน้ำตาไหลหรือมีสารคัดหลั่งออกจากดวงตา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น ผู้ที่เป็นโรคตาแดง ควรอยู่ห่างจากผู้อื่นจนกว่าอาการจะหายไปทั้งหมด

วิธีรักษา ตาแดง

ตามปกติแล้ว โรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย สามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยมีวิธีบรรเทาอาการของโรคตาแดง ดังนี้

  • การใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
  • ทำการประคบร้อนหรือประคบเย็นในบริเวณดวงตาที่มีอาการบวม
  • ทำความสะอาดดวงตาด้วยการใช้ผ้าซับเบา ๆ และเช็ดขี้ตาโดยรอบเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
  • ใช้ยาเพื่อรักษาหากอาการรุนแรง ตามแต่ชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของ ตาแดง นั้น ๆ เช่น อาจใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับเชื้อแบคทีเรีย หรือใช้ยาต้านไวรัสสำหรับเชื้อไวรัส

วิธีป้องกัน ตาแดง

วิธีป้องกัน ตาแดง อาจทำได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รักษาความสะอาดดวงตาอยู่เป็นประจำ
  • ควรล้างมือให้บ่อยครั้งโดยใช้สบู่หรือแอลกอฮอล์เช็ดมือ โดยเฉพาะหากต้องติดต่อกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง
  • ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ทุกครั้งหลังใช้งาน
  • อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เครื่องสำอาง หมอน ผ้าห่ม
  • ทำความสะอาดเครื่องนอนหรือเสื้อผ้าเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่ไอหรือจาม
  • พยายามอย่าขยี้ตา หรือไม่ใช้มือจับใบหน้า หรือดวงตา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา