backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Preterm labor การคลอดก่อนกำหนด อาการที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

Preterm labor การคลอดก่อนกำหนด อาการที่ควรรู้

Preterm labor หรือการคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ อาจเกิดจากคุณแม่มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด มีปากมดลูกสั้น เป็นโรคที่ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น การคลอดก่อนกำหนดอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนบางประการ เช่น ปวดหลัง ปวดหน่วงท้องน้อย ถุงน้ำคร่ำแตก มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ความผิดปกติด้านพัฒนาการ ภาวะตัวเหลือง ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และต้องได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด หากพบอาการที่เป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบไปพบคุณทันทีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าว

Preterm labor คืออะไร

Preterm labor คือ ภาวะคลอดก่อนกำหนด เกิดจากปากมดลูกหดรัดและขยายตัวอย่างรุนแรงและสม่ำเสมอ ทำให้ปากมดลูกเปิดออกก่อนและคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ซึ่งถือว่าเร็วกว่ากำหนดคลอดปกติที่มักเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีระบบประสาทและอวัยวะต่าง ๆ ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้า ทั้งยังมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าทารกที่ใช้เวลาอยู่ในครรภ์จนครบกำหนดคลอด

โดยทั่วไป คุณหมอจะให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยจะต้องได้รับการดูแลพิเศษจากพยาบาลในห้องทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต (Neonatal Intensive Care Unit หรือ NICU) เพื่อติดตามอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะแทรกซ้อนจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทันที

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ Preterm labor

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด อาจมีดังนี้

  • เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน โดยเฉพาะการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ที่ผ่านมา
  • ตั้งครรภ์บุตรตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
  • ตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด (Birth defects)
  • มีภาวะปากมดลูกสั้นกว่าปกติ (Short cervix)
  • คุณแม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่หรือใช้ยาเสพติด
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ทำงานหรือใช้แรงงานหนัก
  • มีภาวะเครียดและเผชิญการใช้ความรุนแรงขณะตั้งครรภ์
  • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก มดลูกมีพังผืด รกเกาะต่ำ
  • อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์น้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • มีระยะห่างในการตั้งครรภ์สั้นกว่า 18 เดือน หรือนานกว่า 59 เดือน
  • มีการติดเชื้อ เช่น ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis) การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติขณะตั้งครรภ์
  • คุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios)
  • คุณแม่เคยแท้งมาแล้วหลายครั้ง
  • คุณแม่มีภาวะเรื้อรังบางประการ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases)

สัญญาณและอาการของภาวะ Preterm labor

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีสัญญาณและอาการของภาวะ Preterm labor หรือการคลอดก่อนกำหนดเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอที่ดูแลครรภ์ทันที

  • การบีบตัวของมดลูกถี่ขึ้น โดยปกติในช่วงไตรมาสที่ 3 จะมีการบีบตัวของมดลูกอยู่บ้าง แต่ไม่สม่ำาเสมอ ไม่ถี่ ถ้าสังเกตว่ามีการบีบตัวถี่ขึ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะมากกว่า 4 ครั้งใน 20 นาทีต้องรีบมาพบแพทย์ทันที
  •  มีน้ำใสไหลออกมาทางช่องคลอดที่เรียกว่าน้ำเดิน แม้ไม่เจ็บท้องก็ต้องรีบมาโรงพยาบาล
  • มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด โดยปกติปากมดลูกจะมีมูกนี้อุดอยู่ ถ้าปากมดลูกเริ่มเปิด มูกนี้จะไหลออกมาทางช่องคลอด
  • ภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น ลูกดิ้นน้อยลง เลือดออกทางช่องคลอด บวมมากร่วมกับปวดศรีษะ คลื่นไส้ หรือตามัว ท้องเสีย

ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนด

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับคุณแม่

  • ภาวะวิตกกังวล ที่เกิดจากความกังวลต่อสุขภาพและความแข็งแรงของทารกในครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ที่เกิดจากฮอร์โมนและความกังวลที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบเกี่ยวกับตัวเองและทารกในช่วงเดือนแรก ๆ หลังคลอด
  • โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) ความเครียดหรือการบาดเจ็บในระหว่างตั้งครรภ์ อาจนำไปสู่ภาวะนี้ได้
  • ปัญหาในการสร้างความผูกพันกับทารก เนื่องจากคุณแม่อาจลังเลและวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและโอกาสการรอดชีวิต รวมไปถึงปัญหาด้านพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจนทำให้ไม่สามารถสร้างความผูกพันกับทารกได้อย่างเต็มที่

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารก

ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดที่พบในทารกมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยปกติ ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะแตกต่างไปในแต่ละคน ยิ่งคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าไหร่ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดในทารก มีดังนี้

ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้น

  • ปัญหาด้านการหายใจ ปอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงอาจทำให้มีปัญหาด้านการหายใจ เช่น ภาวะหายใจลำบากของทารกตั้งแต่กำเนิด (Respiratory Distress Syndrome) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะสามารถหายใจด้วยตัวเองได้
  • ภาวะตัวเย็นในทารกแรกเกิด หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาด้านการรักษาความสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งเสี่ยงเกิดปัญหาในการหายใจและภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงอาจต้องให้ทารกเข้าตู้อบสำหรับทารกเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
  • ปัญหาสุขภาพหัวใจ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus หรือ PDA) ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และภาวะความดันโลหิตต่ำที่อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยา การให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำ หรือการถ่ายเลือด
  • ปัญหาเกี่ยวกับสมอง ยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะเลือดอออกในสมองได้มากเท่านั้น อาการตกเลือดส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายขาดได้ในระยะสั้น แต่ทารกบางคนอาจมีเลือดออกในสมองมากจนทำให้สมองเสียหายถาวรได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญพลังงาน ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาในการเผาผลาญพลังงาน จนนำไปสู่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำผิดปกติ และอาจมีปัญหาในการเปลี่ยนกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย
  • ปัญหาเกี่ยวกับเลือด ทารกคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับเลือด เช่น โรคโลหิตจาง โรคดีซ่าน
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพในทารกคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และเชื้อแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดได้ง่ายกว่าปกติ
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาระบบทางเดินอาหารอักเสบหลังกินนม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis หรือ NEC) ทั้งนี้ ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงแรกเกิดมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้น้อยกว่าทารกที่กินนมผสมหรือนมผง

ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

  • สมองพิการ (Cerebral palsy) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับทารกและเด็กเล็กที่ส่งผลให้เด็กมีการเคลื่อนไหวและท่าทางผิดปกติ เนื่องมาจากสมองบาดเจ็บหรือเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี
  • ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเกิดปัญหาพัฒนาการล่าช้า ขาดสมาธิ จดจ่อไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการทางสังคม สติปัญญา และการเรียนรู้
  • ปัญหาด้านการได้ยิน ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการได้ยิน หรืออาจเสี่ยงสูญเสียการได้ยิน จึงอาจต้องเข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพหูก่อนจะอนุญาตให้พาทารกกลับบ้าน
  • ปัญหาด้านการมองเห็น การคลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้ทารกมีปัญหาด้านการมองเห็นอย่างโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity หรือ ROP) ที่อาจนำไปสู่ภาวะสายตาสั้นอย่างรุนแรง ตาเหล่ ภาวะรูม่านตาสีขาว (Leukocoria) เป็นต้น และอาจทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) หากไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้ตาบอดได้
  • ปัญหาด้านสุขภาพฟัน ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจเสี่ยเกิดปัญหาสุขภาพปากและฟัน เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันเรียงตัวไม่เหมาะสม ฟันเปลี่ยนสี
  • ปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจ การคลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิต จนส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านพฤิตกรรมและจิตใจ ทำให้ขาดทักษะทางสังคม ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี และไม่มีสมาธิในการเรียนได้
  • ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น ปัญหาในการดูดนมเนื่องจากทารกไม่สามารถดูดและกลืนได้อย่างถูกต้อง ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในเด็ก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา