สำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์ หรือครอบครัวที่เตรียมมีลูก เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่นอนก็คือ พัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 34
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 34
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 นี้ ลูกน้อยมีขนาดตัวเท่ากับผลแคนตาลูป โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 2.15 กิโลกรัม และสูงประมาณ 45 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 34 จะเริ่มมองเห็นสี ซึ่งสีแรกที่ทารกน้อยมองเห็น ก็คือ สีแดง ซึ่งเป็นสีในครรภ์นั่นเอง เล็บจะยาวพ้นปลายนิ้วแล้ว ไขหุ้มทารก หรือไขทารกแรกเกิด (Vernix caseosa) ที่เคลือบปกป้องผิวของทารกน้อยอยู่เริ่มแข็งตัวขึ้น ก่อนจะหลุดร่อนออกไปในอีกไม่กี่สัปดาห์หน้า
ทารกในสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าพร้อมคลอดแล้ว โดยคุณหมอจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ทารกในครรภ์หมุนตัวกลับศีรษะมาทางช่องคลอด ที่เรียกว่า ทารกท่าศีรษะ (Vertex or Cephalic Presentation) หรือทารกไม่กลับศีรษะ ที่เรียกว่า ทารกท่าก้น (Breech Presentation) แต่หากคุณแม่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว ทารกในครรภ์อาจจะกลับหัวเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอดก็ได้
แคลเซียมถือเป็นสารอาหารสำคัญมากสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์จะดึงแคลเซียมจากร่างกายคุณแม่ไปเสริมสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น
คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับแคลเซียมมากกว่าเดิม คือ จากวันละ 500-600 มิลลิกรัม เป็นวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุน เกิดตะคริว ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทั้งยังอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ไม่สามารถเติบโตตามปกติได้ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ในช่วงสัปดาห์นี้ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจะกลับมาเยือนคุณแม่ตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่จะไม่รุนแรงเท่าช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุของอาการเหนื่อยล้าในคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงกลางคืน เนื่องจากต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ และต้องนอนพลิกตัวไปมา เพื่อหาท่านอนที่ทำให้รู้สึกสบายตัวมากที่สุดนั่นเอง
คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ ให้ช้าลง ไม่ต้องรีบร้อน หรือหักโหม เกินไป ควรประหยัดพลังงานเอาไว้ใช้ในวันคลอดและหลังคลอด หากนั่งหรือนอนแล้วอยากลุกขึ้น ก็ควรลุกขึ้นช้า ๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการหน้ามืดได้ เนื่องจากเลือดไหลไปกองอยู่ที่ขาและเท้า ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีตุ่มคันหรือรอยแดงเป็นปื้นเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง แล้วกระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ต้นขา บั้นท้าย แขน หน้าอก นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณแม่อาจเป็นโรคผื่นลมพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มักพบในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
ส่วนใหญ่แล้ว หากอาการไม่รุนแรง มักหายได้เองภายใน 4-6 สัปดาห์ หรือภายใน 1-2 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ผื่นขึ้นเยอะ หรือมีอาการคันมาก ควรไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอสั่งจ่ายยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ ไม่เป็นอันตรายกับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
ในสัปดาห์นี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจประสบปัญหาตาแห้งและไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ คุณแม่จึงควรพกแว่นกันแดดไว้ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และพกน้ำตาเทียมไว้หยอดเพื่อป้องกันตาแห้ง
นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจพบว่าตัวเองมีตกขาว หรือระดูขาว (Vaginal Discharge) มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณเชิงกรานเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดเยื่อเมือกมากขึ้น
ทั้งนี้ ตกขาวที่มากขึ้นในช่วงใกล้คลอดนี้ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว หรือไม่มั่นใจ แต่คุณแม่ก็สามารถรับมือได้ด้วยการอาบน้ำให้สะอาด สวมใส่กางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี เช่น กางเกงชั้นในผ้าฝ้าย สวมใส่แผ่นอนามัย แต่ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้
และหากพบสัญญาณของการติดเชื้อที่ช่องคลอดเหล่านี้ขณะตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
- ตกขาวมีสีเหลือง เขียว หนา ข้น หรือลักษณะคล้ายชีส
- มีกลิ่นคาว
- รู้สึกแสบหรือคันที่ปากช่องคลอด หรือในช่องคลอด
- ปัสสาวะแล้วรู้สึกแสบ
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
สำหรับช่วงสัปดาห์นี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ในการทำคลอด ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ขั้นตอนการดูแลตัวเองหลังคลอด เป็นต้น รวมถึงตรวจสอบระยะทางและเส้นทางไปถึงโรงพยาบาลที่สะดวกที่สุดเอาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะหากถึงเวลาที่มดลูกบีบตัว หรือเจ็บท้องคลอดเมื่อไหร่ จะได้ไปทำคลอดได้อย่างสบายใจขึ้น
การทดสอบที่ควรรู้
ในช่วงนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องเข้าพบคุณหมอบ่อยขึ้น และต้องตรวจสอบร่างกายหลายรายการเป็นพิเศษ เนื่องจากคุณหมอต้องประเมินขนาดของทารกในครรภ์ รวมไปถึงคำนวณวันคลอด โดยการตรวจ หรือทดสอบร่างกายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 34 นี้ ได้แก่
- ชั่งน้ำหนัก โดยส่วนใหญ่น้ำหนักตัวของคุณแม่จะคงที่หรือลดลง
- วัดความดันโลหิต ซึ่งความดันโลหิตอาจสูงกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2
- ตรวจปัสสาวะเพื่อหาค่าน้ำตาลและโปรตีน
- ตรวจหาเส้นเลือดขอดที่ขา รวมทั้งอาการบวมที่มือและเท้า
- วัดขนาดมดลูก โดยการตรวจภายใน เพื่อตรวจเช็คความหนาของผนังมดลูก และดูว่าปากมดลูกเริ่มเปิดหรือยัง
- วัดความสูงของยอดมดลูก
- วัดอัตราการเต้นของหัวใจ
- วัดขนาดทารก ตรวจสอบท่าทางก่อนคลอด ว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าเอาหัวลงหรือเอาก้นลง และก้มหน้าหรือเงยหน้าขึ้น
คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจต้องมีการตรวจร่างกายนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่เหลือ หรือการคลอดบุตร ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุด
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
สระว่ายน้ำ
การว่ายน้ำ เดินในน้ำ หรือแอโรบิกในน้ำ ถือเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างยิ่ง เนื่องจากแรงกระแทกน้อย และไม่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเหมือนการออกกำลังกายอื่น ๆ
แต่สิ่งที่ต้องระวังเวลาใช้บริการสระว่ายน้ำ คือ ความสะอาดของสระ และสารเคมีที่ใช้บำบัดน้ำในสระอย่างคลอรีน เพราะหากสระทำความสะอาดไม่ดีพอ อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เช่น ทำให้ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ท้องเสีย ท้องร่วง แต่ถ้าหากสระไหนใช้คลอรีนในการบำบัดน้ำมากเกินไป ก็อาจทำให้คุณแม่เกิดปัญหาผิวหนังระคายเคืองได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากระดับสารเคมีในสระว่ายน้ำเหมาะสม คุณแม่ก็สามารถออกกำลังกายในสระว่ายน้ำได้ โดยไม่เป็นอันตรายกับทั้งตัวเองและทารกในครรภ์ แต่หากเป็นกังวลเรื่องสารเคมี อาจเลือกสระว่ายน้ำที่บำบัดน้ำด้วยระบบโอโซน หรือระบบเกลือก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าสระว่ายน้ำนั้น ๆ ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำด้วย
แล้วมาดูกันว่า ในสัปดาห์ต่อไป คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]