backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

โรคซึมเศร้าหลังคลอด ภัยเงียบที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

โรคซึมเศร้าหลังคลอด ภัยเงียบที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

1 ใน 7 ของคุณแม่ที่เพิ่งให้กำเนิดลูกน้อย พบว่า มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เรียกว่า เบบี้บลู (Baby Blue) ภาวะนี้มักเกิดขึ้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอดนานกว่านั้น นั่นอาจหมายถึงคุณแม่กำลังเป็น โรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวน คิดหรือตัดสินใจอะไรได้ช้า มีปัญหาในการนอนหลับ หรืออาจมีปัญหาในการสร้างความผูกพันกับลูกได้ด้วย

อาการของ โรคซึมเศร้าหลังคลอด

คุณแม่มือใหม่มักประสบกับอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ เบบี้บลู (Baby Blue) ทำให้มีอาการ เช่น อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล เศร้าโศก ฉุนเฉียวง่าย รู้สึกกดดัน ร้องไห้ง่าย ไม่มีสมาธิ ไม่อยากอาหาร มีปัญหาในการนอนหลับ โดยคุณแม่อาจมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดนี้ได้ตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจหมายถึงคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งถือเป็นภาวะอันตราย ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

โดยอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาจมีดังนี้

  • รู้สึกเศร้าหรือร้องไห้บ่อยอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง แต่กลับนอนไม่หลับ
  • นอนมากเกินไป นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ
  • กินไม่หยุด หรือไม่อยากอาหารเลย
  • มีอาการเจ็บป่วย หรืออาการปวดเกิดขึ้นแบบหาสาเหตุไม่ได้
  • รู้สึกวิตกกังวล ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้
  • จำอะไรไม่ค่อยได้
  • ไม่มีสมาธิ
  • ตัดสินใจอะไรไม่ได้แม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ
  • ไม่รู้สึกผูกพันกับลูกตัวเอง สงสัยว่าทำไมมีลูกแล้วถึงไม่มีความสุขอย่างที่คนเป็นแม่ควรจะเป็น
  • รู้สึกพ่ายแพ้ สิ้นหวังกับทุกอย่าง
  • รู้สึกไร้ค่า และรู้สึกผิดที่ตัวเองเป็นแบบนี้
  • ไม่กล้าระบายกับใครเพราะกลัวคนอื่นจะมองว่าเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่อง
  • อยากหนีไปให้ไกลจากทุกอย่าง
  • มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อยแวบเข้ามาในหัว

ส่วนใหญ่แล้ว อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะปรากฏในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังคลอดลูก แต่สำหรับคุณแม่บางคนอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าอาการจะปรากฏ คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และหากไม่รักษา อาการก็อาจแย่ลงจนเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและลูกน้อยได้

วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ควรเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็วที่สุด ซึ่งวิธีรักษาหลักของโรคนี้ คือ การใช้ยาและการบำบัด ซึ่งคุณหมออาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการรักษา หรือใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด แต่นอกจากจะใช้วิธีทางการแพทย์แล้ว การควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ ก็อาจช่วยให้โรคซึมเศร้าหลังคลอดดีขึ้นได้

  • พูดคุยกับผู้อื่น

คุณแม่บางคนอาจไม่อยากเปิดอกพูดคุยกับใคร โดยเฉพาะหากเป็นคนเงียบ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งบุคลิกนี้อาจยิ่งทำให้คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดมีอาการแย่ลงไปอีก ดังนั้น จึงควรปรึกษาหรือระบายกับคนที่สนิท หรือคนที่ตัวเองไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นสามี พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท

  • พยายามอย่าอยู่คนเดียว

ยิ่งคุณแม่จมอยู่กับความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ปลีกวิเวก ไม่ปฏิสัมพันธ์กับใคร ก็จะยิ่งทำให้อาการโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่เป็นอยู่แย่ลง ดังนั้น จึงควรหาเวลาพบปะพูดคุยกับคนอื่นบ้าง จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด และไม่ให้เหงา จะเป็นงานอดิเรกที่ชอบ หรือออกไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ บ้าง

  • อย่ากังวลเรื่องงานบ้าน

คุณแม่ไม่จำเป็นต้องทำงานบ้าน หรือจัดการธุระหมดทุกอย่างเองหมดทุกเรื่องเหมือนก่อนมีลูก หากอันไหนไม่ใช่เรื่องด่วน หรือยังไม่จำเป็น อาจเก็บไว้ทำวันหลัง หรือให้คนอื่นในบ้านช่วยจัดการแทนได้ จะได้เอาเวลาไปดูแลลูกน้อยเต็มที่

  • พักผ่อนให้เต็มที่

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยฟื้นฟูกำลังกายและกำลังใจที่เหนื่อยล้า รวมถึงยังส่งผลดีต่ออาการโรคซึมเศร้าที่เป็นด้วย คุณแม่จึงไม่ควรเลี้ยงลูกคนเดียวจนไม่มีเวลาพักผ่อน ควรหาคนมาผลัดเวรกับดูแลลูกด้วย และหากนอนไม่หลับ ก็อาจทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ทำให้หลับได้ง่ายขึ้น เช่น แช่น้ำอุ่น อ่านหนังสือ นวดผ่อนคลาย นั่งสมาธิ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา