รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด คือภาวะที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ไม่มีประจำเดือน และส่งผลเสียต่อร่างกายอื่น ๆ ตามมาจากการที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงก่อนเวลาอันควร ทั้งนี้ ผู้หญิงควรสังเกตตนเองโดยเฉพาะสุขภาพประจำเดือน หากพบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเสี่ยงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด คืออะไร
รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature ovarian insufficiency) คือภาวะที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี หากรังไข่เสื่อมจะหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ได้ตามปกติ ไม่มีประจำเดือน และเสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งอาการของภาวะขาดฮอร์โมนต่าง ๆ ตามมาได้
การฟื้นฟูระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนบางประการได้ เช่น โรคกระดูกพรุนที่เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ
รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด พบบ่อยเพียงใด
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด พบได้น้อย โดยเกิดขึ้นกับผู้หญิง 1 คนใน 1,000 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และในผู้หญิง 1 คนใน 100 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ทั้งนี้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
อาการทั่วไปของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ได้แก่
- ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี หรือเกิดขึ้นหลังการตั้งครรภ์ หรือหลังจากหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
- ตั้งครรภ์ได้ยาก
- มีอาการร้อนวูบวาบ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ช่องคลอดแห้ง
- กระสับกระส่ายหรือสมาธิสั้น
- มีความต้องการทางเพศลดลง
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากประจำเดือนขาดเป็นเวลาสามเดือนหรือมากกว่า ควรพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ ประจำเดือนขาดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การตั้งครรภ์ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือการออกกำลังกาย หรืออาจจะเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ แม้ว่าผู้หญิงบางคนอาจไม่กังวลเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุ
สาเหตุของ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด แต่ปัจจัยทางพันธุกรรม หรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจส่งผลกระทบในผู้หญิงบางราย ในกรณีที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เนื้อเยื่อในรังไข่อาจเกิดการต่อต้านกันเอง
นอกจากนี้ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดมดลูกรังไข่หรือการผ่าตัดอื่นบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือจากการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็ง ในบางกรณีเหล่านี้ ภาวะดังกล่าวอาจเกิดเพียงชั่วคราว โดยรังไข่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ในอีกหลายปีต่อมา
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น
- ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิงอายุระหว่าง 35 และ 40 ปี แม้ว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าและวัยรุ่นก็สามารถเกิดภาวะดังกล่าวได้
- ประวัติครอบครัว การมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดก็เพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน
- การผ่าตัดรังไข่หลายครั้ง และภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ในรังไข่ รวมทั้งภาวะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำที่รังไข่ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
หากพบว่าประจำเดือนผิดปกติหรือประจำเดือนขาด แพทย์จะแนะนำการตรวจร่างกาย และซักถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปว่า มีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจการตั้งครรภ์ รวมทั้งการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ของการมีประจำเดือนผิดปกติ
ในการตรวจหาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด จะมีการตรวจฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Follicle-stimulating hormone: FSH) ในเลือด โดยฮอร์โมน FSH จะส่งสัญญาณให้ร่างกายมีการตกไข่ทุกเดือน หากปริมาณมีฮอร์โมนชนิดนี้ในเลือดสูงกว่าปกติหรือเป็นเวลามากกว่าหนึ่งวัน อาจวินิจฉัยได้ว่าเกิดภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจเลือดอีกเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนเอสตร้าไดออล (Estradiol) หรือเอสโตรเจนในเลือด ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำลงและระดับฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ที่สูงขึ้นเป็นสิ่งบ่งชี้ของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
การรักษา ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดส่งผลให้เกิดปัญหาที่สำคัญคือการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนเวลาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในภายหลังได้
การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดจึงมุ่งเน้นไปที่ความผิดปกติที่เกิดจากภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยคุณหมออาจให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและบรรเทาอาการร้อนวูบวาบและอาการอื่น ๆ ของภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ โดยแพทย์มักให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนโดยเฉพาะในกรณีที่ยังมีมดลูกอยู่ การเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยปกป้องเยื่อบุมดลูกจากการเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นมะเร็งซึ่งเกิดจากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว
- อาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี อาหารเสริมทั้งสองประการมีความสำคัญสำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุน คุณหมออาจแนะนำให้ทำการทดสอบความหนาแน่นของกระดูกก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้ค่าความหนาแน่นของกระดูกเพื่อเป็นบรรทัดฐาน สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 19 ไปจนถึง 50 ปี โดยแนะนำให้รับประทานแคลเซียมในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน สำหรับผู้หญิงที่อายุ 51 ปีหรือมากกว่า ควรเพิ่มเป็น 1,200 มก. ต่อวัน
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบขนาดใช้วิตามินดีประจำวันที่เหมาะสม ปริมาณใช้เริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ คือ 600 ถึง 800 หน่วยสากล (international units) ต่อวันในอาหารหรืออาหารเสริม หากระดับวิตามินดีในเลือดมีค่าต่ำ แพทย์อาจสั่งให้ใช้ในขนาดที่สูงขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้จัดการ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้
- ศึกษาเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ในการมีบุตร หากต้องการใช้ทางเลือกดังกล่าวในครอบครัว ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ เช่น การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว (vitro fertilization) โดยใช้ไข่ของผู้บริจาคไข่หรือการรับเด็กมาเลี้ยง
- บำรุงกระดูกให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เช่น เดิน และออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อสำหรับร่างกายส่วนบน ปรึกษาแพทย์หากคุณจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี